เช็กขั้นตอน-เงื่อนไข ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ผ่านเว็บไซต์ ผ่อนชำระได้ 15 ปี
จากกรณี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีที่ กยศ. ได้แจ้งนายจ้างให้หักเงินเดือนเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนจากผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ โดยให้หักเพิ่มรายละ 3,000 บาท สำหรับผู้กู้ยืมที่มีสถานะ ค้างชำระ โดยไม่รวมผู้ที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. แล้ว มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป
โดย กยศ. ชี้แจงว่า เนื่องด้วย กยศ. ได้ดำเนินการติดตามหนี้ผู้กู้ยืมทุกรายที่ยังมียอดหนี้ค้างชำระ ซึ่งรวมถึงผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือน
โดยก่อนหน้านี้ กยศ. ได้แจ้งหักเงินเดือน ซึ่งไม่ได้นำยอดหนี้ค้างชำระเดิมของผู้กู้ยืมมารวมในการแจ้ง หักเงินเดือนด้วย และได้แจ้งให้ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ชำระเงินยอดหนี้ค้างชำระด้วยตนเองให้ครบถ้วน แต่ผู้กู้ยืมบางรายไม่ได้มีการชำระเงินดังกล่าวจึงทำให้มียอดหนี้ค้างสะสมและบางรายได้ขอลดจำนวนเงินหักเงินเดือนแต่ไม่ได้ชำระส่วนต่างให้ครบถ้วนภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของงวดปีนั้นๆ ดังนั้น กยศ. จึงมีความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนเงินที่หักต่อเดือนบัญชีละ 3,000 บาท
ทั้งนี้ เปิดให้ ผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้ที่ค้างชำระมาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th เพื่อได้รับสิทธิขยายระยะเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันและลดเบี้ยปรับ 100% ซึ่งจะทำให้การแจ้งหักเงินเดือนในเดือนถัดไปมียอดที่ลดลงตามเงื่อนไข ในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
1. เลือกกดปุ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
2.กรอกเลขประจำตัวประชาชน เพื่อตรวจสอบสิทธิทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
3.กรอกวันเดือนปีเกิด (พ.ศ.)
4.แสดงวิธียืนยันข้อมูลส่วนบุคคลด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ด้วยแอพพลิเคชั่น ThaiID
5.ระบุเบอร์โทรศัพท์มือถือ และอีเมล และเลือกเลขบัญชีเงินกู้ยืมที่จะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
6. อ่านและทำเครื่องหมาย √ เงื่อนไขข้อกำหนดการเก็บรวบรวมข้อมูล จากนั้นกดปุ่ม “บันทึกรายละเอียด
สัญญาปรับโครงสร้างหนี้”
7. ระบบจะสร้างรายละเอียดข้อมูลผู้กู้ยืม ข้อมูลรายละเอียดบัญชีและยอดหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายต่อเดือนให้ผู้กู้ยืม ตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจึงกดปุ่ม “รายละเอียดสัญญา”
8. จากนั้นทำเครื่องหมาย √ เพื่อรับรองข้อมูลรายละเอียดความถูกต้อง และกดปุ่ม “ยืนยัน”
9. สแกน QR Code ผ่านแอพพลิเคชั่น ThaID ยืนยันตัวตน (ลงลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์)
10. จะมีแจ้งเตือนให้ตรวจสอบว่าอีเมลที่ระบุมาถูกต้องหรือไม่ หากตกลง ระบบจะส่งลิงค์ยืนยันการลงลายมือชื่อ อิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้กู้ผ่านทางอีเมลดังกล่าว
11. ระบบจะส่งลิงค์ยืนยันการทำรายการไปที่อีเมลที่ผู้กู้ยืมได้ให้ไว้หน้าลงทะเบียน และให้ยืนยันการทำรายการ เพื่อลงนามการทำสัญญา ผู้กู้จะเห็นข้อความที่ส่งโดยระบบในกล่องข้อความอีเมลของผู้กู้ ให้กด ยืนยันการทำรายการ ภายใน 5 นาที
12. เสร็จสิ้นกระบวนการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์หากผู้กู้ยืมยังมีบัญชีเงินกู้อื่นๆ ที่มากกว่า 1 บัญชี ระบบแจ้งให้ท่านทราบ
13. กดที่ปุ่ม “ตรวจสอบสัญญา” เพื่อตรวจสอบสัญญาปรับโครงสร้างหนี้พร้อมดาวนโหลดเอกสารสัญญา
1.ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
2.ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
3.ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
4.การคำนวณยอดหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้
– กองทุนฯ จะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด
– ในกรณีคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ กองทุนฯจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมและให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% โดยถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว
– สำหรับผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กองทุนฯจะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ
– อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
– ในส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมด กองทุนฯจะพักแขวนไว้ เมื่อผู้กู้ได้ทำการชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
– เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันเงินกู้ทันที
– ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเมื่อผู้กู้ยืมมีงวดผ่อนชำระเหลือไม่ถึง 6 งวด หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลง กองทุนฯจะนำเบี้ยปรับที่ตั้งพักแขวนไว้กลับคืนมาเป็นทุนทรัพย์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป