10 เม.ย.2568- รศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักบรรพชีวินวิทยาผู้บุกเบิกการศึกษาซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ในถ้ำทางภาคใต้เปิดเผยว่า จากการสำรวจร่วมกับชมรมคนรักถ้ำกระบี่พบหลักฐานใหม่ในถ้ำจังหวัดกระบี่ซึ่งชี้ชัดถึงการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดมายังภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 200,000–80,000 ปีก่อนนับเป็นหลักฐานใหม่ต่อจากที่เคยมีการบันทึกว่าพบซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีนาที่จังหวัดชัยภูมิจุดเริ่มต้นของการสำรวจเริ่มขึ้นในปี 2560
จากการแจ้งของชาวบ้านว่าพบกระดูกแรดฝังอยู่ในผนังถ้ำยายรวก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่โดยได้รับการประสานงานจากกรมทรัพยากรธรณีให้ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับชาวบ้าน นอกจากกระดูกแรดยังมีการค้นพบซากของไฮยีนาลายจุด กวางป่า และเม่นใหญ่แผงคอยาว โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนววน. (Fundamental Fund) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุนพัฒนาอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและกองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์จากกรมทรัพยากรธรณี พร้อมทั้งความร่วมมือจากชมรมคนรักถ้ำกระบี่และการอนุญาตจากกรมป่าไม้ในการสำรวจถ้ำผลการตรวจวิเคราะห์ผงเคลือบฟันของไฮยีนาและสัตว์อื่น ๆโดยส่งไปตรวจหาสัดส่วนคาร์บอนไอโซโทปในประเทศเยอรมนี พบว่าไฮยีนาน่าจะกินกวางเป็นอาหารและอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า
จากการหาอายุของฟันสัตว์ในถ้ำยายรวกโดยตรงด้วยวิธีการสั่นพ้องของสปินอิเล็กตรอน (ESR) ควบคู่กับวิธีอนุกรมยูเรเนียม (U-series) ในประเทศสเปน พบว่าไฮยีนาที่พบมีอายุประมาณ 200,000 ปี นอกจากนี้ รศ.ดร.กันตภณ ยังกล่าวถึงหลักฐานการค้นพบไฮยีนาในถ้ำกระดูก อ.ทุ่งใหญ่จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งพบโดยชาวบ้านและมีการสำรวจเบื้องต้นโดยทีมนักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีเมื่อปี 2545และล่าสุดจากการแจ้งของชมรมคนรักถ้ำกระบี่ในพื้นที่ถ้ำเขาโต๊ะหลวง อ.เมือง จ.กระบี่ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์จำนวนมาก ได้แก่ ไฮยีนาลายจุด อุรังอุตังแรดชวา กวางป่า เม่น หมูป่า และวัวซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าในอดีตพื้นที่จังหวัดกระบี่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของไฮยีนาและสัตว์โบราณอื่น ๆที่บางชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว
จากการศึกษาสภาพแวดล้อมในยุคน้ำแข็ง พบว่าระดับน้ำทะเลในเวลานั้นต่ำกว่าปัจจุบันพื้นที่อ่าวไทยจึงกลายเป็นพื้นดิน และบริเวณจังหวัดกระบี่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนา เมื่อทุ่งหญ้าหายไปสัตว์บางชนิดปรับตัวได้และเข้าไปอาศัยในป่า เช่น กวางป่า กระทิง วัวแดง ต่อมาเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน อากาศร้อนขึ้นและป่าฝนเข้ามาแทนที่ อีกทั้งมนุษย์ได้เข้ามาอยู่อาศัยและรุกรานพื้นที่เดิมทำให้สัตว์ป่าต้องถอยร่นไปอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ
รศ.ดร.กันตภณ ร่วมกับนักวิจัยจากเยอรมนีได้ทำการวิเคราะห์สัดส่วนคาร์บอนไอโซโทปในเคลือบฟันของสัตว์ป่าปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเปรียบเทียบกับฟอสซิลในยุคน้ำแข็ง เช่น กวางป่า ละองละมั่ง เก้ง เนื้อทราย กระทิง วัวแดง และควายป่า เพื่อศึกษาการปรับตัวของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและการรุกรานของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ประชากรสัตว์ลดลง และนำไปสู่แนวทางการฟื้นฟูถิ่นอาศัยที่เหมาะสมในปัจจุบัน“การค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ในถ้ำทางภาคใต้จนนำไปสู่การหาหลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับฟอสซิลเป็นความท้าทายของนักบรรพชีวินวิทยาซึ่งเกิดจากการออกเดินทางไปสำรวจในพื้นที่ทำให้รู้ว่าหน้าที่ของนักบรรพชีวินวิทยาคืออะไร และการค้นพบนี้มีประโยชน์กับโลกอย่างไร การศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตผ่านซากดึกดำบรรพ์ช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกในระยะยาว และสามารถเรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติซึ่งจะช่วยให้เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างเข้าใจ” รศ.ดร.กันตภณ กล่าวสรุป