จีนล็อกเป้าสกัดแร่หายาก สหรัฐฯ เสี่ยงเสียศูนย์ทั้ง EV–อาวุธ–ชิป
Thansettakij April 17, 2025 08:28 AM

"จีน" ได้จุดชนวนความกังวลรอบใหม่ในหมวดอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยการเข้มงวดการควบคุมการส่งออก “แร่หายาก” (Rare Earth Elements) โดยการดำเนินการครั้งนี้ รวมถึงการออกข้อกำหนดใหม่เรื่อง “ใบอนุญาตส่งออก”

สำหรับโลหะและแม่เหล็กหายากที่สำคัญ ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนทั่วภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่การป้องกันประเทศไปจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯ ในด้านการผลิตและนวัตกรรมเทคโนโลยี

แร่หายากซึ่งเป็นกลุ่มของโลหะ 17 ชนิดที่มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกันนั้น ถือว่าขาดไม่ได้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่หลากหลายประเภท โดยทำหน้าที่เป็นวัตถุดิบหลักในมอเตอร์ไฟฟ้า ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ระบบนำวิถีของขีปนาวุธ เครื่องบินรบ โดรน กังหันลม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น หลอดไฟ LED และสมาร์ตโฟน

ความเป็นผู้นำของจีนในด้านการทำเหมืองและการแปรรูปแร่หายากทำให้เกิดความเปราะบางในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ

 

รายละเอียดข้อจำกัดการส่งออกของจีน

เมื่อต้นเดือนเมษายน จีนประกาศข้อจำกัดการส่งออกครอบคลุมแร่หายาก 7 ชนิด และแม่เหล็กที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การทหารและเทคโนโลยียานยนต์ โดยแร่ที่ถูกควบคุมได้แก่ ซามาเรียม (samarium), กาดอโลเนียม (gadolinium), เทอร์เบียม (terbium), ดิสโพรเซียม (dysprosium), ลูทีเทียม (lutetium), สแกนเดียม (scandium) และอิตเทรียม (yttrium) ภายใต้นโยบายใหม่นี้ บริษัทจีนจะต้องได้รับใบอนุญาตพิเศษก่อนจึงจะสามารถส่งออกได้

การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน จนกระตุ้นให้จีนดำเนินมาตรการตอบโต้หลายประการ แม้จีนจะยังไม่ได้ประกาศห้ามส่งออกอย่างเป็นทางการ แต่การหยุดการส่งออกในปัจจุบันสะท้อนถึงการระงับแบบกว้างขวางเพื่อรองรับการบังคับใช้ระบบใบอนุญาตใหม่

ตามรายงานของ The New York Times การส่งออกแร่หายากบางส่วนได้หยุดชะงักที่ท่าเรือของจีน ขณะรอคำแนะนำใหม่จากทางการ นอกจากนี้ จีนยังได้เพิ่มบริษัทของสหรัฐฯ อีก 16 แห่ง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอากาศยานและกลาโหม  เข้าไปในบัญชีควบคุมการส่งออก โดยจำกัดการเข้าถึงสินค้าที่มีการใช้งานสองทาง ซึ่งรวมถึงแร่หายากที่ถูกควบคุม

ทำไมแร่หายากจึงสำคัญ และทำไมสหรัฐฯ เปราะบาง

แร่หายากมักแบ่งออกเป็น 2 ประเภท แร่หายากชนิดเบา และชนิดหนัก โดยแร่หายากชนิดหนัก เช่น ดิสโพรเซียม และเทอร์เบียม จะหายากและมีต้นทุนในการสกัดที่สูงกว่า คุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น ทนความร้อน และความแข็งแกร่งของสนามแม่เหล็ก ทำให้แร่เหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีเหมืองแร่หายากแห่งเดียวคือ “Mountain Pass” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีส่วนแบ่งการผลิตแร่หายากของโลกอยู่ราว 15%

จุดที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ที่ “การแปรรูป” เนื่องจากจีนยังคงครองตลาดการแปรรูปแร่หายากชนิดหนักเกือบทั้งหมด รวมถึงแม่เหล็กแร่หายากประมาณ 90% ของโลก หากไม่สามารถเข้าถึงความสามารถในการแปรรูปของจีนได้ ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็จะหยุดชะงักลงทันที

Center for Strategic and International Studies (CSIS) เตือนว่า สหรัฐฯ เปราะบางอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ โดยเน้นว่าแร่หายากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตยุทโธปกรณ์หลัก เช่น เรือดำน้ำ ขีปนาวุธ ระบบเรดาร์ และเครื่องบิน เเละยังระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแยกแร่หายากชนิดหนักใด ๆ ในสหรัฐฯ เลย แม้ว่าจะมีการพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศก็ตาม

เพื่อลดความเปราะบาง กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ (DOD) ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 439 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2020 เพื่อเสริมสร้างโรงงานแปรรูปแร่หายากในประเทศ โดยยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมกลาโหมแห่งชาติ ปี 2024 ของกระทรวงฯ ตั้งเป้าสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศสำหรับแร่หายากที่ใช้ในการป้องกันประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2027

อย่างไรก็ตาม CSIS เตือนว่า แม้โครงการใหม่เหล่านี้จะเปิดดำเนินการ ก็ยังไม่อาจเทียบชั้นกับระดับการผลิตของจีนได้

การพัฒนาความสามารถด้านเหมืองแร่และการแปรรูปต้องใช้เวลานาน สหรัฐฯ จึงจะยังคงอยู่ในสถานะตามหลังในอนาคตอันใกล้นี้

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมสำคัญหลายภาคส่วนของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านกลาโหมและยานยนต์ กำลังเผชิญกับผลกระทบโดยตรงจากข้อจำกัดของจีน บริษัทอย่าง Tesla, General Motors (GM), Rivian และ Ford อาจต้องเผชิญความล่าช้าอย่างมาก เนื่องจากต้องพึ่งพาแม่เหล็กที่มีแร่หายากในมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้า

แซม ฟิโอรานี จาก AutoForecast Solutions กล่าวว่า การห้ามส่งออกแร่หายากของจีนจะชะลอการเข้าถึงแร่สำคัญหลายชนิดที่จำเป็นต่อการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่แบตเตอรี่ มอเตอร์ ไปจนถึงเลนส์กล้อง

แม้ว่า Tesla จะลดการพึ่งพาแร่หายากลงแล้วประมาณ 25% และกำลังพัฒนามอเตอร์รุ่นใหม่ที่ไม่ใช้แร่หายากเลย แต่บริษัทรถยนต์รายอื่นยังคงต้องพึ่งพาแร่เหล่านี้อยู่ GM ระบุว่า กำลังพิจารณาทางเลือกอื่น แต่ยังไม่มีกำหนดการแน่ชัด

Reuters รายงานว่า ผู้ส่งออกแร่หายากของจีนบางรายเริ่มใช้ข้อกำหนด Force Majeure (เหตุสุดวิสัย) เพื่อยกเลิกพันธะตามสัญญากับลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า บริษัทสหรัฐฯ อาจไม่สามารถใช้ข้อตกลงเดิมในการสั่งซื้อวัตถุดิบได้อีก

บริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯ ถือว่าเปราะบางมากเป็นพิเศษ เพราะผลิตมอเตอร์ EV ภายในประเทศ ต่างจากคู่แข่งยุโรปและญี่ปุ่นที่มีแหล่งจัดหาที่หลากหลายกว่า แม้จะมีผู้จัดหาใหม่เกิดขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตก็น่าจะสูงขึ้นมาก

ผลกระทบต่อเป้าหมายด้านกลาโหมของสหรัฐฯ

ผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่ภาคพาณิชย์เท่านั้น เพราะแร่หายากคือรากฐานของเทคโนโลยีทางทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หากขาดแร่เหล่านี้ โครงการสำคัญอาจต้องล่าช้าหรือถูกยกเลิกไปเลย

 CSIS เตือนว่า อาจกระทบโดยตรงต่อความพร้อมรบของกองทัพสหรัฐฯ และชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตยุทโธปกรณ์มาโดยตลอด โดยอ้างถึงคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ในปี 2022 ที่ระบุว่า จีนสามารถผลิตระบบอาวุธล้ำสมัยได้เร็วกว่า 5–6 เท่า

การห้ามส่งออกแร่หายากเพิ่มเติมจะยิ่งถ่างช่องว่างนี้ออกไปอีกและทำให้จีนพัฒนาอาวุธได้รวดเร็วกว่าสหรัฐฯ

โครงการปรับปรุงกำลังรบของทรัมป์ เช่น เครื่องบินขับไล่ F-47 รุ่นที่ 6 อาจถูกสกัดกั้นจากปัญหาขาดแคลนแร่ ขณะที่จีนกำลังเดินหน้าทดสอบเครื่องบินรบรุ่นที่ 6 ของตนเอง เช่น J-36 และ J-50 อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณาแหล่งแร่หายากในต่างประเทศ เช่น ยูเครนและกรีนแลนด์ แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ คุณภาพ และการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่พยายามลดการพึ่งพาจีนในด้านแร่หายาก ออสเตรเลียและบราซิลกำลังลงทุนในเหมืองและโรงงานแปรรูป เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานทางเลือก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.