ชีพจร ‘เที่ยวไทย’ ไตรมาสแรก ย้อน 3 ปีรายได้ (ยัง) ฟื้นตัวต่อเนื่อง
SUB_NOI April 17, 2025 05:21 PM

หลังตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนแรกของปี 2568 พุ่งไปอยู่ในระดับ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 22.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสร้างรายได้รวมกว่า 1.82 แสนล้านบาท หลายฝ่ายต่างมีความมั่นใจว่าตลอดทั้งปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใว้

กล่าวคือ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 39 ล้านคน สร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน

จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์พบว่า ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเดือนกุมภาพันธ์ตกลงไปเกือบครึ่ง เหลือเพียงแค่ 3.7 แสนคน ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ยิ่งทำให้สัญญาณการฟื้นตัวของตลาดจีนอ่อนแรงลง ส่งผลให้ภาพรวมของไตรมาสแรกของปี 2568 นี้เติบโตต่ำ

ย้อนรายได้ไตรมาสแรก 3 ปี

หากย้อนดูสถิตินักท่องเที่ยว 3 ปีย้อนหลังของกระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรก (1 มกราคม-31 มีนาคม) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยปี 2566 มีจำนวน 6,465,737 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งปีจำนวน 28.04 ล้านคน แบ่งเป็น เดือนมกราคม จำนวน 2.14 ล้านคน กุมภาพันธ์ 2.11 ล้านคน และมีนาคม 2.20 ล้านคน สร้างรายได้ 256,194 ล้านบาท

ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรก จำนวน 9,370,297 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งปี 35.54 ล้านคน แบ่งเป็น เดือนมกราคม จำนวน 3.03 ล้านคน กุมภาพันธ์ 3.35 ล้านคน และมีนาคม 2.98 ล้านคน สร้างรายได้ 454,653 ล้านบาท

ล่าสุดปี 2568 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกจำนวน 9,549,004 คน แบ่งเป็น เดือนมกราคม จำนวน 3.70 ล้านคน กุมภาพันธ์ 3.12 ล้านคน และมีนาคม 2.72 ล้านคน สร้างรายได้ 462,747 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

กราฟฟิก จำนวนนักท่องเที่ยว

ปัจจัยลบรุมเร้ารอบทิศ

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ไม่คึกคักและเผชิญกับปัจจัยลบเรื่องความเชื่อมั่นจากปัญหาด้านความไม่ปลอดภัย และทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้นตัวกลับมาตามเป้าหมาย แต่ภาพรวมยังถือว่าภาคการท่องเที่ยวยังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้

“ถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่าตัวเลขทั้งจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวตลาดอินบาวนด์ในไตรมาส 1 จะเห็นว่าการเติบโตไม่มากนัก แต่เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์พอสมควร เพราะเราเจอทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และเรื่องความไม่ปลอดภัย”

และให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับปี 2568 นี้ เดือนมกราคมยังเป็นเดือนที่มีสถิตินักท่องเที่ยวสูงที่สุด เนื่องจากปีนี้เทศกาลตรุษจีนตรงกับช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ปีก่อน ๆ เทศกาลตรุษจีนจะอยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ยันท่องเที่ยวสร้าง “เศรษฐกิจ”

“สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมาประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 2.72 ล้านคน ลดลง 8.79% และรายได้ปรับตัวลดลง 2.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สรวงศ์ เทียนทอง
สรวงศ์ เทียนทอง

“ถึงแม้ว่าจะมีการลดลงในแง่ของจำนวนการเดินทางและรายได้ แต่ก็ยังถือว่าการท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมรายได้จากภาคบริการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

พร้อมระบุว่า การลดลงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีผลกระทบทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดที่ยังคงส่งผลต่อการเดินทางข้ามประเทศ แม้จะมีความพยายามจากรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการยกเลิกวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม แต่ผลกระทบจากปัญหาภายนอกประเทศยังคงส่งผลต่อจำนวนการเดินทางที่ลดลง

“มาเลย์” พุ่งเทียบชั้นจีน

ทั้งนี้ หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 61.91% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด รองลงมาคือยุโรป ที่มีสัดส่วน 31.43% และอเมริกาที่ 5.57%

ขณะที่ตะวันออกกลางและแอฟริกามีสัดส่วนอยู่ที่ 0.69% และ 0.40% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงการยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในภูมิภาคใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนล่าสุดคือเดือนมีนาคมนั้น นักท่องเที่ยวจากจีนยังคงเป็นกลุ่มใหญ่ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด โดยมีจำนวน 297,113 คน สร้างรายได้ถึง 16,335.11 ล้านบาท

โดยนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาส่วนใหญ่เดินทางมายังกรุงเทพฯ, ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการอำนวยความสะดวกจากการยกเลิกวีซ่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแลนักท่องเที่ยวจีนให้ปลอดภัย

รองลงมาคือ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จำนวน 292,436 คน ใกล้เคียงกับอันดับ 1 สร้างรายได้ 6,018.54 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียส่วนใหญ่เดินทางไปยังจังหวัดสงขลา, กรุงเทพฯ และยะลา ซึ่งได้รับผลดีจากการยกเลิกบัตร ตม.6 ในด่านพรมแดนชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเลือกเดินทางไปยังสถานที่อื่นมากกว่า

ส่วนรัสเซียถือเป็นตลาดอันดับ 3 มีจำนวน 235,682 คน สร้างรายได้ 13,949.97 ล้านบาท ส่วนใหญ่เดินทางไปยังกรุงเทพฯ, ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งสภาพอากาศที่หนาวเย็นอาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมายังประเทศไทย

อินเดียตามมาเป็นอันดับ 4 มีจำนวน 187,973 คน สร้างรายได้ 7,240 ล้านบาท ส่วนใหญ่เดินทางไปยังกรุงเทพฯ, ชลบุรี และภูเก็ต นักท่องเที่ยวอินเดียได้รับประโยชน์จากมาตรการยกเลิกวีซ่า

โดยในช่วงเทศกาล HOLI มีความใกล้เคียงกับประเพณีสงกรานต์ของไทย ที่จัดขึ้นภายในประเทศอินเดีย อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การเดินทางออกนอกประเทศลดลง

และอันดับ 5 คือ เกาหลีใต้ จำนวน 120,775 คน สร้างรายได้ 4,884.83 ล้านบาท ส่วนใหญ่เดินทางไปยังกรุงเทพฯ, ชลบุรี และเชียงใหม่ โดยนิยมเดินทางในช่วงวันหยุดเทศกาล SAMILJEOL ซึ่งเป็นวันแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม การลดลงของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลและปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเดินทางของตลาดเกาหลีใต้ลดลง

กทม.-ชลบุรี-ภูเก็ต ยังฮอต

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า กรุงเทพฯ, ชลบุรี และภูเก็ต ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีที่มีเมืองพัทยาเป็นจุดสำคัญที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าวยังคงเป็นที่นิยมจากทั้งนักท่องเที่ยวจากจีน, รัสเซีย, มาเลเซีย, อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่มักจะเลือกเดินทางมายังเมืองเหล่านี้เพื่อสัมผัสความสวยงามและวัฒนธรรมของประเทศไทย

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลจะช่วยเสริมสร้างการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตอย่างยั่งยืน

อัตราเข้าพักโรงแรม มี.ค.ร่วง ลุ้นสงกรานต์ดันยอดเดือนเมษาฯ

จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel Business Operator Sentiment Index) เดือนมีนาคม 2568 โดยสมาคมโรงแรมไทย (THA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (สำรวจระหว่างวันที่ 10-26 มีนาคม 2568 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 126 แห่ง) พบว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 66% ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 77%

เป็นการลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ลดลงในช่วงปลายฤดูท่องเที่ยว ที่ปรับลดลงในทุกระดับดาวและทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตามอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาส 1 ของปีนี้ ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีก่อน

โดยลูกค้าต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ ชาวยุโรปตะวันตก ชาวเอเชีย และชาวจีน (ไม่รวมอาเซียน) ซึ่งส่วนมากเข้าพักในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และในพื้นที่ภาคกลาง

สำหรับในเดือนเมษายนนี้ ผู้ประกอบการที่พักคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ประมาณ 63% ต่ำกว่าเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลของการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เริ่มเข้าสู่ Low Season

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่พักคาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยอดขาย การจองที่พัก การใช้บริการ รวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนและนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น จากบรรยากาศการท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทยระบุว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หลังแผ่นดินไหว เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ยอดจองที่พักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการเดินทางทางอากาศ และจำนวนเที่ยวบินยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

และหากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย พร้อมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว

รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น

ขณะที่ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์ว่า เดือนเมษายนนี้ ประเทศไทยมีเทศกาล “สงกรานต์” โดย ททท.คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2568 (รวม 5 วัน) จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยราว 476,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 3% และสร้างรายได้ประมาณ 7,324 ล้านบาท

และหากรวมตลาดในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” ด้วย คาดว่าในช่วง 5 วันดังกล่าวนี้ ประเทศไทยจะมีรายได้ท่องเที่ยวราว 26,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยเทศกาลสงกรานต์จะเป็น “บิ๊กอีเวนต์” สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และผลักดันอัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมในเดือนเมษายนนี้ ให้เพิ่มขึ้นด้วย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.