จากสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ไทยต้องมองหาการเติบโตรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทการค้าโลกที่ต้องเติบโตแบบยั่งยืนและมีฐานทางธุรกิจที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน ที่จำเป็นต้องผลักดันผ่านการสร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นสินค้าและบริการของแต่ละพื้นที่ให้มีความแตกต่าง รวมถึงต้องแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่ได้สินค้าและบริการมีมูลค่าสูง ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ SMEs ปี 2568 ขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า แผนพัฒนาธุรกิจ SMEs ปี 2568 จัดทำผ่านกลไกการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาประเทศ ให้มีความสอดคล้องกันในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่ เพราะเป้าหมายหลัก คือ ต้องการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศจากมุ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเมือง และพึ่งพาการลงทุนจากชาวต่างชาติเป็นหลัก มาเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมที่มีความเป็นสากล
โดยใช้เศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมขับเคลื่อนบริบทเศรษฐกิจประเทศ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้ท้องถิ่นเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างความมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เพราะความมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดแนวคิด ความคิดเห็น และรูปแบบการพัฒนาที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างมีทิศทาง ที่จะเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้มีความแข็งแกร่งได้
ทั้งนี้ กรมจึงได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเพื่อให้สอดรับกับการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) สร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยี 2) พัฒนาสู่มาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีเทียบเท่าระดับสากล และ 3) สร้างโอกาสทางการตลาดและขยายเครือข่ายทางธุรกิจ โดยปี 2568 กรมได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 15,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อให้เดินหน้าไปตามแนวทางปฏิบัติงาน กรมจึงได้กำหนดธุรกิจเป้าหมายและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ SMEs ของไทยที่สำคัญ เพื่อที่จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจและผู้ประกอบการได้ตามเป้าหมาย คือ 1.สร้างโอกาสทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ โดยแผนปี 2568 กรมจะดำเนินการผลักดัน 1.1 พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ (Franchise B2B) 1.2 ยกระดับสู่เกณฑ์มาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์
1.3 จัดประกวด Thailand Franchise Award 2025 1.4 นำผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ 1.5 พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล (Thai Franchise Towards Global) เป้าหมายรวม 750 ราย
2.สร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ คือ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ เน้นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเงื่อนไขการส่งมอบ (Incoterm) เพื่อให้ดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรได้อย่างถูกต้อง ยกระดับมาตรฐานผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ด้วย ISO 9001
3.ส่งเสริมร้านอาหารไทยให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการปรับภาพลักษณ์ (Rebranding) ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT สร้างการรับรู้ Soft Power อาหารไทย ร้านอาหารไทย เป้าหมายรวม 300 ราย
4.ส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ จะจัด Workshop ในหลักสูตรพลิกเกมธุรกิจ Wellness ให้ปังด้วยพลังดิจิทัลและเครือข่ายธุรกิจจำนวน 3 ครั้ง กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ต นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานนำเสนอและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ภายในงาน Thailand Wellness & Healthcare Expo 2025 เป้าหมายรวม 200 ราย
5.ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก (โชห่วย) ปัจจุบันมีนิติบุคคลธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 22,935 ราย กรมจะดำเนินการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อยเป็น “สมาร์ทโชห่วย” ประกอบด้วย 5.1 เสริมสร้างองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการให้แก่ร้านค้าโชห่วย รวมถึงร้านค้าปลีกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เน้นการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป้าหมาย 2,700 ราย 5.2 พัฒนาสมาร์ทโชห่วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทีมงานพี่เลี้ยงโชห่วยดำเนินการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า เป้าหมาย 150 ร้าน 5.3 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ เป้าหมาย 150 ร้าน 5.4 พัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการเป็น “ห้างท้องถิ่นต้นแบบ” 5.5 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เป้าหมาย 30 ร้าน
6.ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมากรมจะจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม SMEs ด้าน Digital Marketing เป้าหมาย 5,950 ราย พัฒนาชุมชนออนไลน์ต้นแบบ Digital Village ชุมชนสร้างสรรค์สู่การแข่งขันการค้าออนไลน์ เป้าหมาย 20 ชุมชน 4 ภูมิภาค
7.เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรภาคเอกชนทางธุรกิจ เช่น MOC Biz Club โดยแผนปี 2568 นี้จะดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ เปิดร้าน Biz SHOP จำนวน 10 ร้าน 10 จังหวัด และขยายให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2570 ปัจจุบันมีร้าน Biz SHOP 13 ร้าน 12 จังหวัด ขณะที่สมาคมการค้า กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่สมาคมการค้า และธุรกิจที่เป็นสมาชิกสมาคมการค้า กรมจะดำเนินการควบคู่กับการกำกับดูแลสมาคมการค้าให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ. 2509 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้แก่สมาคมการค้า ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ
ปัจจุบันประเทศไทยมีสมาคมการค้า 1,218 สมาคม และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิด “ห่วงโซ่มูลค่า : Value Chain” สร้างโอกาสทางการค้าและต่อยอดธุรกิจระหว่างสมาคมการค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายรวม 400 ราย
8.แหล่งเรียนรู้เพื่อ SMEs (e-Learning) ปัจจุบันได้เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะการบริหารจัดการธุรกิจผ่าน dbdacademy.dbd.go.th จำนวน 4 หลักสูตร 38 วิชา ซึ่งในแผนงานปี 2568 จะเพิ่มเติมอีก 3 หัวข้อวิชา ได้แก่ วิชาเส้นทางสู่ความสำเร็จธุรกิจร้านอาหาร วิชารู้ทันภูมิรัฐศาสตร์สร้างโอกาสธุรกิจไทย และวิชา AI for Business ทำให้ปี 2568 จะเพิ่มเป็น 4 หลักสูตร 41 วิชา ปัจจุบัน (ตุลาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568) มีผู้จบหลักสูตรแล้ว จำนวน 18,006 ราย
9.ธุรกิจครอบครัว (Family Business) เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการ Family Business Thailand เพื่อสร้างธุรกิจครอบครัวของไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยแผนปี 2568 จะเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว จำนวน 2 ครั้ง เป้าหมาย 200 ราย และบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
10.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้ไม้ยืนต้นและธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
11.พัฒนาศักยภาพตลาดธุรกิจชุมชนด้วยหลักการ Smart Local แผนงานปี 2568 จะขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วย Smart Skill แบ่งเป็น 11.1 Smart Local Clinic คลินิกธุรกิจ 4 ครั้ง 4 ภูมิภาค 11.2 Smart Local Camp ค่ายบ่มเพาะทางธุรกิจ 1 ครั้ง 11.3 Smart Local Connect เชื่อมโยงธุรกิจ 1 ครั้ง 13.4 Smart Local Communication ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างโอกาสทางการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนรวม 362 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 118 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาธุรกิจ SMEs ปี 2568 ที่กรมจะเดินหน้านั้น ก็เพื่อมุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของแต่ละจังหวัด หากมีการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่นได้ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นไปสู่ระดับประเทศได้