สมศักดิ์ ได้ข้อสรุปแก้ปัญหา ‘หมอขาดแคลน’ จ่อประกาศพื้นพิเศษเพิ่มสวัสดิการ
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมแก้ปัญหา “หมอลาออก” และขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ ร่วมกับเลขาธิการแพทยสภา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการประชุมราว 2 ชั่วโมง
นายสมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบราชการ คือการเดินหน้าทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. …. หรือ ก.สธ. ซึ่งถ้ามีการออกเป็นกฎหมายแล้วเสร็จก็จะมีการปรับเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง เงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการทั้งหมด ที่ สธ.สามารถบริหารได้เอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าแม้จะผ่านความเห็นของสภา แต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างแพทยสภาเพื่อให้คำแนะนำ
“แพทย์ที่ลาออกส่วนใหญ่ออกไปทำงานอื่นๆ ที่เปิดมาใหม่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เปิดรับแพทย์เพิ่มขึ้น รวมถึงโรงพยาบาล (รพ.) ใหม่ๆ ที่เปิดเพิ่มขึ้น ทำให้แพทย์ย้ายพื้นที่ทำงาน แต่ไม่ได้แปลว่าย้ายไปไหน ก็ยังอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ทำให้แพทย์ที่ทำงานในสังกัด สธ.น้อยลง เกิดเป็นปัญหาขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทาง สธ.ได้หารือกันวันนี้มีข้อสรุปว่า จะต้องมีการประกาศพื้นที่พิเศษในจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์ หรือมีแพทย์ลาออกเยอะ ให้เป็นพื้นที่เหมือนกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะมีการดูแลด้านสวัสดิการมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ขณะนี้มีการวิเคราะห์ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งจะมีคณะกรรมการกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์การจัดสรรโควต้าและการลาศึกษา ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ที่มี นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พิจารณาประกาศพื้นที่พิเศษ
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า โดยหลักเมื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษแล้วจะมีอยู่ 7 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วยการลดระยะเวลาใช้ทุนในการศึกษาต่อ อย่างนักศึกษาแพทย์ทั่วไปจะใช้ทุน 3 ปีถึงจะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางได้ แต่ถ้ามาทำงานในพื้นที่พิเศษก็จะลดเหลือ 2 ปี เรื่องที่ 2 เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั้งแบบฝึกเองและร่วมฝึก เพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรให้เหมาะสม ซึ่ง สธ.มีการคำนวณตลอดเวลา
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง มาช่วยในจังหวัดที่ขาดแคลน เรื่องที่ 4 เสริมระบบบริการด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพและการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงการให้แพทย์เกษียณอายุราชการกลับเข้ามาทำงานได้ โดยจะมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนเรื่องนี้ให้มีมากขึ้น เรื่องที่ 5 กำหนดตำแหน่งข้าราชการ รองรับแพทย์ที่มาจากระบบเอกชน รวมถึงแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องที่ 6 พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ อาจจะเป็น 1 เท่าครึ่ง หรือ 2 เท่า หรืออาจมากขึ้นไปอีกตามความเหมาะสมที่สามารถดำเนินการได้และส่งเสริมสวัสดิการ เช่น บ้านพัก การเดินทาง รถรับส่งอย่างเหมาะสม และ เรื่องที่ 7 กรณีที่ไม่มีแพทย์ใช้ทุน หรือหมออินเทิร์น ที่มาจากโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD ในพื้นที่พิเศษ ก็จะเปิดรับแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน หรือจากต่างประเทศ อย่างเช่นใน จ.บึงกาฬ ไม่สามารถฝึกหัดแพทย์อินเทิร์นได้มาก เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางรองรับตามเกณฑ์ของแพทยสภากำหนด 5 สาขา ได้แก่ สูตินารีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารแพทย์ และ แพทย์ฉุกเฉิน
“เช่น หากมีแพทย์เฉพาะทาง 30 คน ก็จะมีหมออินเทิร์นได้ 30 คน ซึ่งแพทยสภาได้แนะนำว่าให้เอาแพทย์ในจังหวัดอื่นเวียนกันไปเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละจังหวัดพิเศษ อย่าง จ.บึงกาฬ ก็เวียนเอาแพทย์เฉพาะทางจากอุดรธานี หนองคาย นครพนม เวียนกันไปให้ครบตามกำหนด เพื่อให้แพทย์อินเทิร์นเข้าไปทำงานได้” นายสมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ จะใช้เงินส่วนใดบ้าง เช่น เงินบำรุงของ รพ. หรือขอเพิ่มจากรัฐบาล นพ.ภูวเดชกล่าวว่า โดยปกติแล้วจังหวัดที่เป็นพื้นที่พิเศษ สธ.จะจัดสรรงบประมาณไปให้มากกว่าจังหวัดอื่นอยู่แล้ว ส่วนการใช้เงินบำรุงของ รพ.ก็จะเป็นการบริหารร่วมกันในจังหวัดและเขตสุขภาพ ซึ่งส่วน สธ.จะหาแหล่งเงินสนับสนุนกรณีที่ไม่เพียงพอ
เมื่อถามถึงแนวทางในการลดภาระงานของแพทย์ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนตั้งใจไว้ว่าจะลดภาระงานของแพทย์ให้ได้ร้อยละ 30 ภายใน 2 ปี ด้วยการเดินหน้านโยบายให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีการเข้ารักษาใน รพ.มากกว่า 100 ล้านครั้งต่อปี และใช้ระบบเทเลเมดิซีนลดความแออัดใน รพ.
“เรามาทำเรื่องเวชศาสตร์ป้องกันตรงนี้ เพราะมีการใช้เงินในการรักษาไปถึง 52% เรามี อสม.ที่มีค่าป่วยการปีละ 25,000 ล้านบาท เราก็ต้องให้งาน อสม.ทำเต็มที่” นายสมศักดิ์กล่าว
ถามถึงการตั้งคำถามว่า การเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข ผลักดันได้ช้ากว่าร่าง พ.ร.บ.อสม.ฯ นายสมศักดิ์กล่าวว่า อำนาจของตนสุดแรงแล้ว ทำเรื่องออกจาก สธ.ไปแล้วเช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.อสม.ที่ทำออกไปพร้อมๆ กัน แต่ก็ผ่านความเห็นของคณะรัฐมนตรี ส่วนร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข ก็จะเข้า ครม. ตนอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน
ถามต่อว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ หรือแพทย์ลาออก ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังในทุกๆ รัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา นายสมศักดิ์กล่าวว่า คิดว่าแก้เกือบหมดแล้ว อะไรที่ยังค้าง ตนยินดีตอบคำถาม
ถามว่าร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข คืบหน้าถึงไหน มีการตั้งคำถามจากหน่วยงานอื่นๆ อย่างไร นายสมศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะเรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นก็จะเข้าสู่ ครม.ต่อไป ดังนั้น ตอนนี้ยังไม่มีใครถามกลับมา แสดงว่าเนื้อในคงดีแล้ว ส่วนจะแล้วเสร็จตอนไหน ตนตอบไม่ได้ เพราะหมดอำนาจของตนแล้ว
เมื่อให้พูดถึงแพทย์ที่คิดจะลาออกจากระบบราชการ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าตรงไหนขาดเราจะประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่ม ลาออก เราก็ประกาศเพิ่ม ขอรับแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและต่างประเทศ เข้ามาเสริมดำเนินการ