ชุมชนเขมราษฎร์ธานี เสน่ห์วัฒนธรรมริมฝั่งโขง
GH News April 19, 2025 07:08 PM

จ.อุบลราชธานี เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งโขง  ดินแดนแห่งตะวันออกสุดของประเทศไทย  ที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ทางธรรมชาติ ประเพณี และวัฒนธรรม แต่ท่ามกลางเมืองอันกว้างใหญ่ของอุบลฯ ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ที่มีวิถีชีวิตอันเป็นเสน่ห์ นั่นคือ “ชุมชนเขมราษฎร์ธานี” ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ เมืองเก่าอายุกว่า 200 ปี ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองสองคอนของลาว แม้จะต้องเดินทางจากตัวเมืองไปกว่า 122 กิโลเมตร แต่เมื่อได้ลองเปิดประสบการณ์มาสักครั้งจะพบกับความสงบเรียบง่ายที่ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ

สำหรับชุมชนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี เคยรู้จักกันในนาม “เมืองเขมราษฎร์” ก่อนจะได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น “เขมราฐ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อที่มีความหมายงดงามดุจบทกวีว่า “ดินแดนแห่งความเกษมสุข” สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันงดงามของผู้คนและวิถีชีวิตอันสงบเรียบง่าย และยังเป็นประตูสู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของสองฝั่งโขงที่เชื่อมโยงกันผ่านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างงดงาม

ทุกวันเสาร์ชุมชนเขมราษฎร์ธานีคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว

ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนเขมราษฎร์ธานี และพลังสามัคคีของคนในชุมชน จึงได้เกิดพัฒนาให้ชุมชนแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นที่มาของ  “ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี”  ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 และจะเปิดบริการทุกวันเสาร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวอำเภอเขมราฐ

เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงจะได้สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและอบอุ่นท่ามกลางบรรยากาศของอาคารบ้านเรือนย้อนยุค การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ผ้าทอ สินค้าหัตถกรรมจากชาวบ้าน อาหารพื้นบ้าน ของที่ระลึกต่าง ๆ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น รำตังหวาย รำตุ้มผ่าง และฟ้อนภูไท รวมถึงการส่งเสริมท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นวัดหรือศูนย์เรียนรู้ต่างๆรอบชุมชน จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกให้ชุมชนเขมราษฎร์ธานี 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ประจำปี 2567

สัมผัสวิถีเขมราฐที่สงบและเรียบง่ายในยามค่ำคืน

ไปเริ่มกันที่จุดหมาย วัดชัยภูมิการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างคุ้นปากว่า” วัดกลาง “สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2317 ในสมัยกรุงธนบุรี โดยพระเทพวงศา เจ้าเมืองคนแรกของเขมราฐธานี เดิมชื่อว่า วัดชัย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น วัดชัยภูมิการาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเข้ามาด้านในวัดบรรยากาศเรียบง่าย สงบ ตามแบบฉบับวัดพื้นบ้านในชนบท แฝงไปด้วยเสน่ห์แห่งศิลปะและคติความเชื่อ คือ อุโบสถ หรือ สิม ที่ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน รูปทรงเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความหมาย บันไดทางขึ้นมีราวปูนปั้นเป็นรูป เหรา(เห-รา)  สัตว์ในตำนานจากป่าหิมพานต์ มีหน้าที่เฝ้าเชิงเขาพระสุเมรุตามความเชื่อในคติฮินดู ซึ่งต่อมาได้ผสานเข้ากับคติพุทธในศิลปะลุ่มน้ำโขง

เหราของวัดกลางแห่งนี้โดดเด่นไม่เหมือนใคร มีหงอน 5 หงอน ไม่มีเกล็ด และเท้าด้านหลังเหยียบปลา ถูกปั้นขึ้นด้วยปูนโบราณโดยช่างพื้นบ้านที่ใช้ฝีมือเรียบง่ายแต่จริงใจ สะท้อนความงามบริสุทธิ์ ปราศจากรายละเอียดซับซ้อนของช่างหลวง แต่กลับเปี่ยมด้วยความศรัทธาอย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นผลงานศิลป์หาชมได้ยากในยุคปัจจุบัน และยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เป็นอาร์ตทอย ที่น่ารักและร่วมสมัยอีกด้วย

การแสดงศิลปะพื้นบ้านทุกวันเสาร์

อีกส่วนที่สำคัญ คือ  ศาลาการเปรียญ หรือ ศาลาโรงธรรม ซึ่งภายในประดับด้วย ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้าน ที่บอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ และผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ภาพวาดเหล่านี้แม้จะผ่านกาลเวลาจนบางส่วนเลือนลาง แต่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของศิลปะพื้นถิ่นที่เปี่ยมเสน่ห์มากกว่า 20 ภาพ

จากวัดกลาง มาไหว้พระต่อที่วัดโพธิ์ วัดเก่าแก่ ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สร้างจากอิฐโบราณผสมน้ำเกสรดอกไม้และน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาชาวบ้านในยุคที่ยังไม่มีปูนซีเมนต์ ถือเป็นพระพุทธรูปเพียงองค์เดียวที่ประดิษฐานริมฝั่งแม่น้ำโขง แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีบันทึกจากคำบอกเล่าระบุว่า พระเจ้าใหญ่องค์แสนถูกสร้างขึ้นก่อนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง

พลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เยี่ยมชมสินค้าถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี

ย้อนประวัติไปถึงช่วงปลายกรุงธนบุรี ก่อนการก่อตั้งเมืองเขมราษฎร์ธานีหลายสิบปี สมัยนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือรัชกาลที่ 1) ยกทัพตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันทน์) ในปี พ.ศ. 2321 ทำให้ชาวบ้านอพยพหนีภัยสงคราม ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีแม่ชีเป็นผู้นำ พาญาติโยมล่องมาตามลำน้ำโขงจนถึงฝั่งหนึ่งซึ่งยังเป็นป่ารกชัฏ คืนนั้นแม่ชีฝันเห็นพระพุทธรูปอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว เช้ารุ่งขึ้นจึงพาคนไปค้นหา และพบพระพุทธรูปปางมารวิชัยงดงาม หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือมองลงแม่น้ำโขง ด้วยความเป็นมงคลของนิมิตนั้น จึงตั้งชุมชนขึ้นชื่อว่าบ้านกงพะเนียง และสร้างวัดโดยเรียกตามต้นโพธิ์ใหญ่ในพื้นที่ ส่วนพระพุทธรูปที่ค้นพบนั้นได้รับการเคารพบูชาในนาม พระเจ้าใหญ่องค์แสน สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วุ้นตาลน้ำกะทิ เมนูรสชาติที่หายไป

 เราเดินทางต่อมายัง ศูนย์การเรียนรู้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ (ป้าติ๋ว) สถานที่เล็ก ๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยพลังของภูมิปัญญาท้องถิ่น นำโดย คุณธนิษฐา วงศ์ปัดสา หรือที่ใคร ๆ เรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “ป้าติ๋ว” ผู้ริเริ่มนำลวดลายผ้าโบราณของเมืองเขมราษฎร์ธานีมาสืบสาน ต่อยอด และพัฒนาเป็น ผ้าฝ้ายทอมือมัดหมี่ย้อมครามธรรมชาติ ที่ทั้งงดงามและเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์

ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในวัฒนธรรมท้องถิ่น ป้าติ๋วได้พลิกบ้านพักของตนให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งภูมิปัญญา เปิดให้ผู้สนใจทั้งจากชุมชน หน่วยงาน และผู้รักงานหัตถกรรมจากทั่วสารทิศ ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ และสัมผัสการทอผ้าย้อมครามด้วยตนเอง ไม่เพียงแค่เรียนรู้เทคนิคการทอ แต่ยังได้ฟังเรื่องเล่าและตำนานที่ซ่อนอยู่ในแต่ละลวดลายผ้า ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเขมราฐที่สืบทอดกันมาช้านาน

.แหนมใบมะยม ของฝากเขมราฐ

ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้เชื่อมโยงศาสตร์เก่ากับแนวคิดใหม่ นำศิลปะการทอผ้าโบราณมาประยุกต์ให้ร่วมสมัย แต่ยังคงรักษาแก่นแท้ของวัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ ทั้งในด้านลวดลาย ความหมาย และการแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ ที่งดงามและร่วมสมัย

พระสิทธิมงคล พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ศิลปะล้านช้าง

มาถึงไฮไลท์ของการเดินทางมาเยือนเขมราฐในครั้งคือ การได้มา ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี ที่จะเปิดทุกเย็นวันเสาร์เท่านั้น แม้จะพบกับร้านอาหาร ของฝาก เสื้อผ้า คล้ายตลาดทั่วไป แต่เสน่ห์ที่แท้จริงอยู่ที่บรรยากาศบ้านเรือนเก่าแก่ที่ยังคงกลิ่นอายวันวาน และการรวมพลังของชุมชนที่ร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง บางเสาร์จะมี วุ้นบักตาลหรือวุ้นตาลน้ำกะทิ เป็นขนมไทยที่หาทานได้ยาก  เรียกได้ว่าเป็นของเฉพาะถิ่นถึงแม้ว่าต้นตาลจะมีปลูกมากในหลายพื้นที่ในไทย วุ้นตาลน้ำกะทิเป็นขนมหวานจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอุบลราชธานี  และยังเป็น หนึ่งในเมนู รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste ปี 67 อีกด้วย และยังมีกล้วยตากแสงแรก ข้าวเม่าคาราเมล แหนมใบมะยม สายกินต้องลองไปลิ้มรสให้ได้

อุโบสถวัดกลาง

ที่ห้ามพลาด คือการแสดงศิลปะพื้นบ้านหาชมยาก ไม่ว่าจะเป็น “ลำตังหวาย” ศิลปะการแสดงจากฝั่งลาวที่ข้ามโขงมายังฝั่งไทย เริ่มจากการขับลำตามจังหวะดนตรี ก่อนจะมีการฟ้อนรำประกอบอย่างงดงาม วิทยาลัยครูอุบลฯ (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ) ได้นำมาสร้างสรรค์และเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“ลำตุ้มผ่าง” การฟ้อนรำโบราณของชาวอีสาน ที่แต่เดิมใช้ผู้ชายล้วน รำประกอบจังหวะกลองตุ้มในขบวนแห่บั้งไฟ เพื่อขอฝนตามฤดูกาล และ “ฟ้อนภูไท” นาฏศิลป์งดงามที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาวภูไทในแต่ละภูมิภาค การแต่งกายด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามและลีลาการฟ้อนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และที่นี่ได้จัดตั้งชมรมสืบสานวัฒนธรรมคนสามวัย ใส่ใจสุขภาพ รวมกลุ่มจิตอาสาทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ถ่ายทอดและฟื้นฟูศิลปะการแสดงเหล่านี้ให้คงอยู่ โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้มาเยือนได้มีส่วนร่วมในการแสดง สร้างความสนุกและประสบการณ์แปลกใหม่

ความวิจิตรของฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง วัดดลาง

บนถนนสายวัฒนธรรมในทุกเย็นวันเสาร์แห่งนี่ จึงเป็นมากกว่าการมาเดินตลาด แต่เป็นโอกาสในการสัมผัสลมหายใจของชุมชน ผ่านศิลปะ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของคนเขมราฐอย่างแท้จริงอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ (ป้าติ๋ว)
ปั่นด้ายไหมริมโขง
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.