จากการสำรวจของ Mynabi พบว่า 45% ของพนักงานประจำในญี่ปุ่น มีพฤติกรรม ‘Quiet Quitting’ สะท้อนวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) รายงานว่า พนักงานประจำในญี่ปุ่นกำลังสมาทานแนวคิด ‘ลาออกเงียบ’ (Quiet Quitting) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พนักงานหมดกำลังใจ และไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพียงทำตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่นิยมการทำงานเกินกำลัง
ไมนาบิ (Mynavi) บริษัทจัดหางานในญี่ปุ่น ทำการสำรวจพนักงานประจำกว่า 3,000 คน อายุระหว่าง 20 ถึง 59 ปี พบว่า 49% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าตนเองเป็นชาวลาออกเงียบ ๆ
อะคาริ อะซาฮินะ (Akari Asahina) นักวิจัยจากไมนาบิ คาเรียร์ รีเสิร์ช แล็บ (Mynavi Career Research Lab) กล่าวกับทางเดอะ เจแปน ไทมส์ (The Japan Times) ว่า “สังเกตได้ว่า ‘การลาออกเงียบ ๆ’ กำลังกลายเป็นค่านิยมใหม่”
ศัพท์คำว่า ‘Quiet Quitting’ เป็นที่นิยมในบนแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก (TikTok) ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2022 โดยกล่าวถึงพนักงานที่ทำงานเฉพาะหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน Job Description เท่านั้น โดยไม่ได้มีแรงใจในการทำงานอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาหรืออยู่ในนอกเวลางาน
ตามผลสำรวจของไมนาบิ พบว่า ชาวลาออกเงียบ ๆ มากกว่า 70% ยังคงตั้งใจที่จะสมัครใจลาออกต่อไป ราว 60% กล่าวว่า พอใจกับการมีเวลาส่วนตัวให้ตัวเองมากขึ้น ระหว่างและนอกชั่วโมงการทำงาน
แบบสำรวจระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานแห่ลาออกเงียบ ๆ มาจากความรู้สึกไม่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ทำ หรือให้ความสำคัญกับสมดุลการทำงานและชีวิต หรือ ‘Work-life Balance’ และความเฉยเมยต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
อะซาฮินะ จากไมนาบิ กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องยอมรับคุณค่าที่พนักงานแต่ละคนยึดถือ และมอบรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น สอดรับกับค่านิยมเหล่านั้น
เดิมทีแล้ว วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยค่านิยมการเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม และมี ‘คาโรชิ’ ซึ่งเป็นคำเรียกเฉพาะเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป แต่ผลสำรวจของไมนาบิชี้ว่า ค่านิยมดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไป
ด้านฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็มีความคิดต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวที่แตกต่างกัน 32% ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลกังวลว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อคติในการทำงาน ขณะที่อีก 39% ยอมรับค่านิยมดังกล่าว และมองว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะมีพฤติกรรมสมัครใจลาออก ผู้คนที่ยังต้องการความก้าวหน้าก็ยังมีอยู่
ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานของคนญี่ปุ่นลดลงเรื่อย ๆ เช่นกันตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการรายงานของ ทาคาชิ ซากาโมโตะ (Takashi Sakamoto) นักวิเคราะห์ที่ รีครูต เวิร์ก อินสติติวต์ (Recruit Works Institute) พบว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยรายปีของชาวญี่ปุ่นลดลง 11.6% จาก 1,839 ชั่วโมงในปี 2000 เหลือ 1,626 ในปี 2022 ซึ่งใกล้เคียงกับชั่วโมงการทำงานของชาวยุโรปมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เยาวชนคนรุ่นใหม่ปฏิเสธวัฒนธรรมการทำงานหนัก ที่ผู้คนรุ่นพ่อแม่เคยยึดถือเพื่อความมั่นคง อย่างไรก็ตาม คติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทายมากขึ้น