รัฐฉานเหนือภายใต้อาณัติของจีน
ลลิตา หาญวงษ์ May 09, 2025 02:00 PM

รัฐฉานเหนือภายใต้อาณัติของจีน

รัฐฉานเหนือเป็นพื้นที่การสู้รบที่สำคัญอย่างยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะนี่คือพื้นที่ชายแดนจีนกับพม่า พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ของว้า (UWSA) กับโกก้าง (MNDAA) และก็มีกองกำลังอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในยุคหลังรัฐประหาร 2021 ได้แก่ TNLA ของตะอาง (บ้างเรียกปะหล่อง) และ PDF กองกำลังฝ่ายต่อต้านของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ NUG อีกทั้งยังมีกองกำลังขนาดเล็กอื่นๆ กระจายในหลายพื้นที่

ความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของฉานเหนือ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว (Lashio) คือสภาพทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดชายแดนจีน มีด่านการค้าสำคัญที่มูเซ-รุ่ยลี่ (Mese-Ruili) เป็นประตูการค้าระหว่างจีนใต้ในมณฑลยูนนานกับรัฐฉานเหนือ รวมทั้งพื้นที่ตอนในในพม่าตอนบน นอกจากนี้ ฉานเหนือยังเป็นส่วนสำคัญภายใต้แผนการ BRI หรือ One Belt One Road ของจีน เพราะมีท่อก๊าซและท่อน้ำมันพาดผ่าน ทำให้การขนส่งก๊าซและน้ำมันจากมหาสมุทรอินเดียในพื้นที่รัฐอาระกัน (ยะไข่) ขึ้นไปยังมณฑลยูนนานเป็นไปโดยสะดวก

อย่างไรก็ดี การสู้รบตั้งแต่ปี 2021 เข้าไป “ดิสรัปต์” ความมั่นคงทางพลังงานของจีน อีกทั้งยังเป็นเหมือนสะเก็ดแผล ที่แม้จะไม่เจ็บแต่ก็คันคะเยอชวนให้แกะให้เกาอยู่เสมอ จีนจึงให้ความสำคัญกับรัฐฉานเหนือมากและพยายามจะแก้ไขเงื่อนปมนี้ในสไตล์ “ปักกิ่งเวย์” มาโดยตลอด ผู้เขียนเคยพูดหลายครั้งว่ากว่าจีนจะตกผลึกจนมียุทธศาสตร์ต่อพม่าและรัฐฉานเหนืออย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน จีนก็ผ่านการลองถูกลองผิดมามากมาย แต่สิ่งที่จีนมีมาโดยตลอดคือโจทย์หรือธงที่ว่าทำอย่างไรจีนจะจัดการกับความสงบในรัฐฉานเหนือ ไม่ให้มีการสู้รบกัน เพื่อ 1) ปกป้องท่อก๊าซกับน้ำมัน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และเม็ดเงินลงทุนของจีนในพื้นที่ตรงนี้ให้ได้ และ 2) เพื่อสร้างความสงบตามแนวชายแดน อย่างน้อยที่สุดจีนต้องควบคุมชายแดนพม่า-จีนได้ หรือการมีพลังต่อรองกับทั้งชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลทหารพม่า

ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปเยี่ยมชายแดนจีน-พม่า ที่ด่านมูเซ-รุ่ยลี่ บรรยากาศชายแดนจีน-พม่าต่างจากชายแดนเรากับพม่า เพราะจีนควบคุมชายแดนแน่นหนา มีกำแพงกั้นระหว่างสองประเทศ ข้อจำกัดของการค้าชายแดนพม่า-จีนคือปริมาณการค้าในปัจจุบันลดลงไปมากตั้งแต่โควิด-19 ระบาด จีนมีนโยบายกำปั้นเหล็กที่จะไม่รับผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีผู้ที่หนีภัยสงครามจากพม่าเข้าไปในจีนน้อยมาก ส่วนมากจะมีเพียงพื้นที่ของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโกก้าง ในเขตพม่าเท่านั้น

ย้อนกลับไปที่แนวทางบริหารจัดการยุทธศาสตร์ในรัฐฉานเหนือ จีนเริ่มจากการสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ AA, TNLA และ MNDAA ให้รวมกลุ่มกันเป็น “กองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพ” แม้จีนจะไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนกองกำลังเหล่านี้ แต่ทั้งโลกรู้ว่าจีนทั้งจัดหาอาวุธ ฝึกฝนทางยุทธวิธีให้ และยังส่งเสริมให้นักธุรกิจของตนเข้าไปบุกเบิกตลาดในรัฐฉาน แบบเปิดหน้ารุกเต็มตัว แหล่งข่าวของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่าเมืองใหญ่น้อยในรัฐฉาน ไม่ใช่แค่เพียงรัฐฉานเหนือ ถูกทุนจีนเข้าไปครอบเกือบจะหมดแล้ว โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจหลักๆ ที่หล่อเลี้ยงรัฐฉานเหนือล้วนเป็นธุรกิจของชาวจีน และยังมีทั้งธุรกิจขาวและธุรกิจสีเทาๆ อีกหลายประเภท มีข่าวออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ว่ากองทัพโกก้าง MNDAA ที่ปกครองเมืองแสนหวี (แต่ก่อนเรียกเมืองมาว) ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าในท้องถิ่นขึ้นป้ายเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทใหญ่ ให้ขึ้นได้เพียงภาษาจีนเท่านั้น หากจะใช้ภาษาพม่าก็ต้องมีภาษาจีนกำกับไว้ด้วย

เมืองแสนหวีเป็นเมืองขนาดกลางๆ ในรัฐฉานเหนือ แต่ก่อนเคยมีเจ้าฟ้า (Sawbwa) ปกครอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 34 ห่างชายแดนจีน 103 กิโลเมตร และห่างจากล่าเสี้ยว ไปเพียง 50 กิโลเมตร ในปฏิบัติการ 1027 เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่กลุ่มพันธมิตรทั้งสามร่วมกันตีฐานกองทัพพม่า จนยึดเมืองได้ 48 เมือง และฐานทัพพม่าได้อีกนับร้อยฐาน ปฏิบัติการ 1027 สั่นสะเทือนกองทัพพม่าในระดับ 10 ริกเตอร์ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าปฏิบัติการร่วมครั้งนั้นเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามกลางเมืองพม่า และมีแนวโน้มว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านกำลังกุมชัยชนะเลยทีเดียว แน่นอนว่าปักกิ่งไม่ค่อยปลื้มกับปฏิบัติการครั้งนี้เท่าใดนัก

พัฒนาการหลังปฏิบัติการ 1027 และท่าทีของจีน มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่เดิมหลังกลุ่มพันธมิตรสามฝ่ายยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐฉานเหนือจากกองทัพพม่าได้แล้ว เหตุการณ์น่าจะสงบลงและจีนก็น่าจะพึงพอใจว่าสถานการณ์กลับสู่สภาวะที่ตนควบคุมได้บางส่วน แต่กองทัพพม่ายังมีไม้เด็ดคือการโจมตีทางอากาศ และกองทัพพม่ายังได้เปรียบกองกำลังฝ่ายต่อต้านอยู่หลายเท่าตัวในด้านยุทโธปกรณ์ ตราบใดที่เนปยีดอยังไม่เพลี่ยงพล้ำ โอกาสที่กองทัพพม่าจะ “แพ้” ก็เป็นไปได้ยาก ศึกในรัฐฉานเหนือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นว่าแม้ฝ่ายต่อต้านจะยึดเมืองได้มากมาย แต่ท้ายที่สุดเมื่อกองทัพพม่าส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งระเบิด พม่าก็สามารถยึดเมืองต่างๆ คืนมาได้

เมื่อสถานการณ์ในรัฐฉานเหนือเป็นไปแบบนี้ จีนอดรนทนไม่ได้ เพราะสถานการณ์เริ่มอยู่เหนือการควบคุม และเริ่มเปิดฉากเจรจากับรัฐบาล SAC เริ่มจากการส่งบุคคลระดับสูงในรัฐบาลของตนเดินสายพบบุคคลสำคัญของพม่า และยังเชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ไปร่วมงานประชุมที่คุนหมิงในเดือนพฤศจิกายน 2024 ในความเป็นจริง จีนให้ความสำคัญกับสันติภาพในพื้นที่ชายแดนของตนอย่างมาก ก่อนปี 2015 จีนกดดันกองกำลังในพื้นที่ตรงนี้ให้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่า ครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังปฏิบัติการ 1027 จบไปไม่กี่เดือน จีนก็เริ่มกดดันให้กองกำลังทั้ง 3 กลุ่มลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาล SAC

กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพล้วนได้ประโยชน์จากการสนับสนุนจากจีน แต่ในกลุ่มของพวกเขาเองก็มีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากจีน ได้แก่ MNDAA และ TNLA ซึ่งมีชายแดนติดกับจีน สำหรับ AA นั้น ไม่ได้มีพื้นที่ติดชายแดนจีนโดยตรง แต่ก็มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับจีนในด้านอื่นๆ จนทำให้ AA ก้าวขึ้นมาเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์แถวหน้าในพม่าปัจจุบัน ที่ผ่านมา จีนพยายามกดดัน MNDAA อย่างหนักเพื่อให้ยอมถอนกองกำลังออกจากเมืองล่าเสี้ยว แต่ MNDAA ก็พยายามอย่างหนักที่จะรักษาเมืองเอกในรัฐฉานเหนือไว้ เพราะมองว่าตนเองต้องเสียกำลังไปมากมายนับร้อยนับพันนายเพื่อบุกเข้ายึดล่าเสี้ยวและเมืองอื่นๆ

เมื่อจีนขยับและกดดันหนัก เราจึงได้เห็น MNDAA ยอมถอยและคืนพื้นที่ในเมืองล่าเสี้ยวให้กับกองทัพพม่า แต่ยังมีกองกำลังของตนเองรักษาพื้นที่รอบนอก กองกำลังตามแนวชายแดนพม่า-จีนประสบกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ทั้งหมด เพราะพวกเขาเองต่างมีสายสัมพันธ์กับจีน พูดภาษาจีน มีสมาชิกครอบครัวที่อาศัยในจีน และยังมีธุรกิจในจีนด้วย การตัดขาดจากจีนโดยขัดคำสั่งของยูนนานและปักกิ่งจึงไม่อยู่ในความคิดของผู้นำ MNDAA ในขั้นตอนต่อไป TNLA ก็จะตามรอย MNDAA ไปติดๆ เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.