นิสสันขาดทุนหนักสุดในรอบ 25 ปี ประกาศปิดโรงงาน 7 แห่ง เลิกจ้าง 20,000 ตำแหน่งทั่วโลก เร่งหาทางกอบกู้กิจการ
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ประกาศปิดโรงงาน 7 แห่ง และเลิกจ้างกว่า 20,000 ตำแหน่ง หลังรายงานผลประกอบการรายปีขาดทุนหนักสุดนับตั้งแต่ เรโนลต์ (Renault) ค่ายรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสเข้าช่วยกอบกู้กิจการเมื่อ 25 ปีก่อน
นิสสัน บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นตัดสินใจไม่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ผลดำเนินงานในงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2026 และรายงานผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 670,900 ล้านเยน (ราว 150,000 ล้านบาท) ในปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม
อิวาน เอสปิโนซา (Ivan Espinosa) ซีอีโอคนใหม่แกะกล่องของนิสสันกล่าวในที่ประชุมผลประกอบการครั้งแรกของเขาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2025 ว่า “ชัดเจนแล้วว่า นิสสันต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน”
เอสปิโนซาซึ่งร่วมงานกับนิสสันมานับตั้งแต่ปี 2003 กำลังเร่งปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ นิสสันจะปิดโรงงาน 7 แห่งทั่วโลกในปีงบประมาณ 2027 และลดกำลังการผลิตต่อปีลงเหลือ 2.5 ล้านคัน จาก 3.5 ล้านคัน โดยไม่เปิดเผยว่าจะปิดโรงงานใดบ้าง
นอกจากนี้ นิสสันยังยืนยันว่าจะลดตำแหน่งงานลง 20,000 ตำแหน่ง โดยรวมกับ 9,000 ตำแหน่งที่ประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2024 แล้ว มุ่งเป้าลดต้นทุนราว 500,000 ล้านเยน (ราว 100,000 ล้านบาท)
นิสสันกำลังดิ้นรนพลิกฟื้นกิจการหลังรถยนต์รุ่นเดิม ๆ ไม่สามารถเอาชนะใจผู้บริโภคในสหรัฐและจีนได้ ซึ่งนิสสันเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงหลายคนแล้ว หลังประสบความล้มเหลวในการเจรจาควบรวมกิจการกับฮอนด้า (Honda) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เอสปิโนซากล่าวว่า แม้จะล้มเหลวในการควบรวม แต่ฮอนด้าก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือก สำหรับโครงการร่วมทุน หรือตั้งบริษัทลูก โดยก่อนหน้านี้ ทั้งนิสสันและฮอนด้าต่างประกาศว่ายังคงดำเนินความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ด้านรถอีวีและแบตเตอรี่ต่อไป ซึ่งบอกไม่ได้ว่าความเป็นหุ้นส่วนครั้งใหม่จะเริ่มขึ้นเมื่อใด
แม้จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างมาก แต่นิสสันยังคงต้องหาผู้ช่วยเหลือทางการเงินต่อไปอย่างยากลำบาก
เจ้าแรกที่เสนอช่วยเหลือนิสสันหลังเจรจาควบรวมกับฮอนด้าล้มเหลว คือ หงไห่ พรีซีชัน อินดัสทรี (Hon Hai Precision Industry) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญารายใหญ่ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตไอโฟน (iPhone) ให้แอปเปิล (Apple) ในนามบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) จากไต้หวัน ได้แสดงความต้องการที่จะประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับค่ายรถญี่ปุ่นอย่างชัดเจน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้ลงนามในข้อตกลงกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ (Mitsubishi Motor) ในประเด็นดังกล่าว
นิสสันคาดว่ามาตรการภาษีสหรัฐจะสร้างความเสียหายต่อบริษัทเป็นมูลค่ากว่า 450,000 ล้านเยน (ราว 100,000 ล้านบาท) และมีผลประกอบการขาดทุน 200,000 ล้านเยน (ราว 45,000 ล้านบาท) ในไตรมาสแรก
เจเรมี พาพิน (Jeremie Papin) ซีเอฟโอนิสสันกล่าวว่า การส่งออกรถจากเม็กซิโกและญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วน 45% ของยอดขายรถยนต์นิสสันในสหรัฐ โดยมาตรการภาษีส่งผลให้ยอดส่งออกในเม็กซิโกลดลง 300,000 คัน และในญี่ปุ่น 120,000 คัน
ทั้งนี้ เอสปิโนซา ซีอีโอนิสสันกล่าวว่า จะเสริมความร่วมมือกับเรโนลต์ ซึ่งถือหุ้นนิสสันอยู่ 36% ในยุโรป อินเดีย และละตินอเมริกา และทำงานร่วมกับมิตซูบิชิในสหรัฐ ในการพัฒนารถกระบะ และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และยังมองหาความร่วมมือกับฮอนด้าในสหรัฐอีกด้วย