“กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. ฉายภาพบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนศักยภาพนักวิจัยไทยได้อย่างน่าภาคภูมิ แต่กลับมีสิทธิบัตรเพียง 11 ฉบับ ต่อประชากร 1 ล้านคน และมีเพียง 12% ของธุรกิจไทยที่สามารถนำนวัตกรรมไปพัฒาเป็นสินค้าและบริการได้ ต้องเปลี่ยน “ระบบ” เชื่อมโยงให้ใช้ได้จริง เพื่อเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักยุทธศาสตร์แผน ติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนา “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน.” ภายใต้แนวคิด “มองจุดร่วม สร้างจุดเปลี่ยน ร่วมสร้าง GDP ไทย ด้วยกองทุน ววน.” โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด
เพื่อนำผลการงานวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาช่วยกระตุก GDP ไทย ให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมและขับเคลื่อนไม่หยุดนิ่งได้อย่างต่อเนื่องและเกิดวามยั่งยืน พร้อมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการเร่งรัดผลักดันนโยบายและการดำเนินงานที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและในเวทีโลก
ในโอกาสนี้ สกสว.ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาให้มุมมองถึงโอกาสในการใช้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อันจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กสว. และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กฤษณ์ จันทโนทก ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า สิ่งที่ประเทศไทยขาด ไม่ใช่ความรู้หรือแรงบันดาลใจ แต่เป็น “ระบบ” ที่เชื่อมโยงเพื่อทำให้ผลลัพธ์จากการวิจันและนวัตกรรมเกิดขึ้นจริง อาจต้องทบทวนคำถามพื้นฐานว่า “ที่ผ่านมาไทยรอดจากวิกฤตหลายครั้งเพราะระบบเข้มแข็ง หรือโชคดี และอยู่ในจังหวะที่โลกเข้าข้างเรา”
ช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้แรงหนุนจากมหาอำนาจ มีเม็ดเงินลงทุนมากมาย ทำให้ผ่านสถานการณ์นั้นมาได้ ต่อด้วยทศวรรษ 1980 ไทยได้การลงทุนจากญี่ปุ่นทำให้อุตสาหกรรมไทยเติบโต เป็นอีกช่วงที่จังหวะดี ขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยได้อานิสงส์จากแรงงานที่มีราคาไม่สูง และการเปิดการค้าเสรีของโลก ส่วนหลังโควิด-19 การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่มาถึงวันนี้โอกาสเหล่านั้นที่เคยใช้ ยังคงมีอยู่หรือไม่ และระบบที่ไทยมี สามารถต่อยอดความยั่งยืนได้หรือไม่
“ผมไม่มั่นใจว่าการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันจะเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะนำพาเราไปสู่ทางรอดได้”
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) กำลังไหลไปอยู่ประเทศอื่นที่มีระบบนวัตกรรมที่ครบถ้วน และครบวงจรกว่า เริ่มเห็นชัดมากขึ้น เทคโนโลยีไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่คือสนามแข่งขันที่ไม่รอใคร
ถึงเวลาแล้วที่ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ จะไม่เป็นเพียงแค่กลไกสนับสนุนเบื้องหลัง แต่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการเปิดพื้นที่ใหม่ และสร้างอนาคตใหม่กับประเทศไทย กฤษณ์ กล่าว
กฤษณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงนวัตกรรม คนมักนึกถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น เอไอ บล็อกเชน หรืออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องทันสมัย แต่นวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก ไม่ได้เปลี่ยนเพราะเทคโนโลยี แต่เปลี่ยนโลกได้ด้วยระบบที่ฝังอยู่ในโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง
ตัวอย่างเช่น IMF ไม่ใช่แค่สถาบัน แต่คือนวัตกรรมเชิงระบบที่ออกแบบกติกาเศรษฐกิจโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือจะเป็น เปโตรดอลลาร์ (petrodollar) ก็ไม่ใช่แค่เงิน แต่คือนวัตกรรมที่ผูกเข้ากับน้ำมันและดอลลาร์ สร้างโครงสร้างอำนาจใหม่ให้สหรัฐอเมริกา ขณะที่อินเตอร์เน็ต ก็ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการจัดการที่โลกยอมรับโครงสร้างที่เชื่อมทั้งโลก
สิ่งที่ทำให้ทั้งหมดนี้ทรงพลังได้คือระบบ ไม่ใช่แค่โค้ด หรือแค่ชิป แต่เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ทุกคนอยากเข้ามาในเครือข่ายที่เป็นมาตรฐาน และทุกคนยอมรับ พร้อมทั้งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง
ถ้าต้องการให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ต้องเริ่มจากคำถามสำคัญคือ “ระบบของประเทศพร้อมแล้วหรือยัง” มากกว่าถามว่า “เทคโนโลยีที่เราใช่นั้นล้ำหน้ามากแค่ไหน” ถ้าระบบไม่เปลี่ยน ต่อให้พัฒนาเทคโนโลยีไปไกลแค่ไหน เศรษฐกิจก็ยังอยู่ที่เดิม
เศรษฐกิจไทย ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเท่าก่อนโควิดได้ แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 4 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2024 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยเพียง 2.1% ต่ำที่สุดในอาเซียน เป็นสัญญาณว่าเครื่องยนต์เดิมอย่างท่องเที่ยว ส่งออก และบริโภคกำลังอ่อนแรง ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างอีกมากมาย ทั้งหนี้ครัวเรือนที่ 88% ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบ และสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ ก็สูง ทำให้เสี่ยงกับสงครามการค้า
“บนความเสี่ยงต่าง ๆ ของเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง โอกาสที่ GDP ประเทศไทยใน 2-3 ปีข้างหน้า จะเติบโตเกิน 2% ไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้ไม่ใช่วันที่จะรอให้เครื่องยนต์เก่ากลับมาฟื้นตัว แต่เป็นเวลาที่ต้องสร้างเครื่องยนต์ใหม่ให้ประเทศ ซึ่งระบบนวัตกรรมคือคำตอบ”
กฤษณ์ ระบุอีกว่า วันนี้ประเทศไทยมีงบวิจัยคิดเป็น 1.2% ของ GDP เม็ดเงินจำนวนนี้ถือว่าไม่น้อย แต่ทำไมผลลัพธ์ยังไม่สะท้อนกลับมาทางเศรษฐกิจ หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ “ไทยมักจะวัดความสำเร็จของนวัตกรรมจากจำนวนโครงการ บทความ หรือแผนงานที่วางไว้ แทนที่จะนับจากเศรษฐกิจจริง ๆ”
ตัวอย่างเช่น แคนาดา เปิดโครงการลงทุนด้านการวิจัย โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าภายใน 10 ปี ต้องสร้าง 5 หมื่นตำแหน่งงาน และ GDP ต้องเพิ่มให้ได้ 5 หมื่นล้านเหรียญ ความน่าสนใจคือตรวจสอบได้ และให้ทุกโครงการตอบโจทย์เป้าหมายทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ดีบนกระดาษ หรือดีบนห้องปฏิบัติการเท่านั้น
“ถ้าไทยไม่ปรับตัวในระบบคิด และระบบวัดผล งานวิจัยก็จะไม่สามารถไปถึง GDP ได้”
ข้อมูลจาก Global Innovation Index 2024 ไทยอยู่อัยดับ 41 โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างนวัตกรรมอย่างด้านทุนมนุษย์และงานวิจัย อยู่อันดับที่ 71 คุณภาพสถาบันของไทยอยู่อันดับ 74 สะท้อนว่าไทยมีคนเก่ง มีงานวิจัยเยอะ แต่จะทำอย่างไรให้ไอเดียไปอยู่ในเศรษฐกิจจริงได้
“เราทำหลาอย่างได้ดี แต่ไม่พอ หากระบบต้นน้ำอย่างทุนมนุษย์ การศึกษา หรือโครงสร้างสถาบันต่าง ๆ ไม่ถูกเชื่อมโยงเกิดขึ้นจริง ประเด็นจึงไม่ใช่แค่งบวิจัยและพัฒนามากหรือน้อย แต่เรามีระบบในการเปลี่ยนงบให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงหรือไม่”
เมื่อพิจารณาระบบโครงสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยของไทย พบว่ามีหน่วยงานค่อนข้างมาก แม้ทุกหน่วยงานมีบทบาทสำคัญ แต่ด้วยโครงสร้างที่มีความกระจาย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้มีเจ้าภาพกลางทั้งระบบ และสิ่งที่สำคัญกว่าคือ KPI กลางของประเทศ ระบบการติดตามผลงานแบบครบวงจรเกิดขึ้นหรือไม่ และใครจะมาเป็นคนกลางที่สามารถบูรณาการงบประมาณและภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน
งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมีจำนวนมาก และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2023 ไทยมีบทความวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตีพิมพ์มากกว่า 1.5 หมื่นชิ้น เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ตัวเลขนี้สะท้อนศักยภาพนักวิจัยไทยได้อย่างน่าภาคภูมิ แต่ไทยกลับมีสิทธิบัตรเพียง 11 ฉบับ ต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับเกาหลีที่มี 3.7 พันฉบับ โดยมีเพียง 12% ของธุรกิจไทยที่สามารถนำนวัตกรรมไปพัฒาเป็นสินค้าและบริการได้จริง
ดังนั้น งานวิจัยในแง่ของจำนวน กับนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจจึงมีช่องว่างอยู่ ทำอย่างไรให้ครบวงจรและต่อยอดไปสู่ทุกภาคส่วน ถ้าไม่ทำ งานวิจัยจะวางอยู่บนหิ้งและไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
รัฐให้ทุนอย่างเดียวไม่พอ ในโลกที่หมุนเร็วขนาดนี้ ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ออกแบบระบบ เพื่อให้คนเก่งจำนวนมากในประเทศได้ไปทดสอบในสนามจริง
“วันนี้ไทยยืนอยู่บนทางแยก ถ้าเราไม่เปลี่ยน วิจัยและนวัตกรรมจะอยู่แค่ในห้องทดลอง งบวิจัยก็จะจบอยู่เพียงแค่ชั่นหนังสือ และคนเก่งก็จะไปโตที่อื่น ถ้าเรากล้าเปลี่ยน งานวิจัยจะเชื่อมกับธุรกิจได้จริง และงบประมาณจะถึง SMEs คนเก่งจะกลับมาสร้างอนาคตให้กับประเทศ…โชคช่วยได้แค่บางครั้ง แต่ระบบที่ดีช่วยได้ทุกครั้ง”