'ปลัดคลัง' แจงปมกยศ.บี้จ่ายหนี้เพิ่ม3พัน แนะเร่งปรับโครงสร้าง ยันช่วยลดภาระผ่อนได้
GH News May 17, 2025 02:07 PM

‘ปลัดคลัง’ ตั้งโต๊ะแจงปมร้อนเงินกู้ กยศ. บี้ลูกหนี้จ่ายเพิ่มอีก 3 พันบาท แนะเร่งติดต่อปรับโครงสร้างหนี้ ยันช่วยลดภาระผ่อนชำระได้

17 พ.ค. 68 – นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดเรื่องการชำระหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทำให้สังคมเกิดความสับสนอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2566 กยศ. เริ่มใช้กฎหมายใหม่ ตรงนี้ส่งผลดีกับลูกหนี้ กยศ. หลายประการ ประกอบด้วย การเรียงลำดับการตัดชำระหนี้ ที่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้ลดลง การคิดอัตราดอกเบี้ยจากเพดานไม่เกิน 7.5% ต่อปี เป็นไม่เกิน 1% ต่อปี ซึ่งมีการเก็บจริงเพียง 0.5% ต่อปีเท่านั้น รวมถึงกฎหมายยังแก้ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากภาระหนี้ ไม่เป็นปัญหาเหมือนกฎหมายเดิม

ทั้งนี้ หลังจากกฎหมายมีผลเริ่มใช้ปี 2566 ทางคณะกรรมการ กยศ. ได้มีมติว่า ให้กฎหมายมีผลย้อนหลังกลับลูกหนี้ทุกราย เพราะถือว่ากฎหมายเป็นคุณกับผู้กู้ ทำให้ให้ภาระหนี้ลดน้อย อย่างไรก็ตามปัญหาทางเทคนิคเรื่องการปรับปรุงยอดหนี้ใหม่ (Recal) ลูกหนี้ทั้งหมด 3.8 ล้านราย ต้องใช้เวลาดำเนินการนาน เพราะมีเงื่อนไขการกู้รายละเอียดที่แตกต่างกันมาก

สำหรับผลของการ Recal ลูกหนี้ 3.8 ล้านราย พบว่า ส่งผลดีกับลูกหนี้ทุกราย ประกอบด้วย 1. กลุ่มผู้ได้เงินคืนจำนวน 2.89 แสนบัญชี เป็นเงิน 3,399 ล้านบาท 2. กลุ่มที่มียอดหนี้ลดลง 3.54 ล้านบัญชี ยอดหนี้ลดลง 4.62 หมื่นล้านบาท 3. กลุ่มที่มียอดหนี้เท่าเดิม 755 บัญชี และ 4. กลุ่มที่หนี้หมด (ปิดบัญชีการกู้) 80 บัญชี

“จากข้อมูลผลของการ Recal จะเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ลูกหนี้ กยศ. ทั้ง 3.8 ล้านราย ได้ประโยชน์ทั้งหมด ไม่มีลูกหนี้คนไหนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่คนเดียว” นายลวรณ กล่าว

ทั้งนี้ ลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่มต้องเข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านเว็บไซต์ กยศ. เพื่อรับเงินคืน และปรับยอดโครงสร้างหนี้ใหม่ให้ลดลง แต่ปัจจุบันพบว่า มีลูกหนี้ที่เข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตนเพื่อขอรับเงินคืนเพียง 2.64 หมื่นบัญชี เป็นเงิน 426 ล้านบาท จากกลุ่มเป้าหมาย 2.86 แสนบัญชี เป็นเงิน 3.39 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อยมากทั้งโดย กยศ. พร้อมจะคืนเงินทั้งหมดภายในเดือน พ.ค. 2568 ในส่วนของการลงทะเบียนยืนยันตัวตนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้นั้น พบว่า มีผู้มาลงทะเบียน ประมาณ 6 แสนบัญชี จากเป้าหมายทั้งหมด 3.54 ล้านบัญชี

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่ผู้กู้ต้องจ่ายเพิ่ม 3,000 บาท เนื่องจากมียอดค้างชำระหนี้ก่อนหักเงินเดือน หรือผู้กู้ไม่ชำระส่วนต่าง ๆ และยังไม่ยอมมาลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ โดยก่อนหน้านี้ กยศ. ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ให้ผู้กู้ยืม และได้ส่งอีเมลให้นายจ้างทราบล่วงหน้าแล้วกว่า 1 เดือน แต่ยอมรับว่าอาจประเมินระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้าสั้นไป จึงทำให้เกิดกระแสดังกล่าวขึ้น

“ผู้กู้สามารถลดยอดชำระดังกล่าวได้ โดยผู้กู้ต้องติดต่อกับ กยศ. เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือชำระยอดค้าง โดยสามารถเดินทางมาติดต่อที่ กยศ. หรือขอปรับโครงสร้างหนี้ Online ผ่านเว็บไซต์ กยศ. ซึ่งจะช่วยให้ยอดหนี้รวมต่อเดือน และจะไม่ถูกหักเพิ่มอีกเดือนละ 3,000 บาท โดยยอดชำระเดือน พ.ค. 2568 ที่จะหักในวันที่ 17 พ.ค. นี้นั้น กยศ. จะขยายระยะเวลาการเรียกหักออกไปถึงวันที่ 24 พ.ค. เพื่อให้ผู้กู้มีเวลายื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ทัน” นายลวรณ กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่มียอดค้างชำระหนี้ก่อนหักเงินเดือน 5.1 แสนบัญชี ในส่วนนี้เป็นผู้กู้ยืมที่มาปรับโครงสร้างหนี้ 2.07 แสนบัญชี และเป็นผู้กู้ยืมที่มาปิดบัญชีหรือชำระยอดค้าง 4.25 หมื่นบัญชี ขณะเดียวกันมีผู้กู้ยืมที่ควรขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือชำระยอดค้างอีก 2.61 แสนบัญชี จึงควรเร่งเข้ามาติดต่อกับ กยศ. เพื่อปรับโครงสร้างหนี้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.