กินมากไม่ดี! หมอหมู ชี้ กินโปรตีนมากเกิน เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจแข็งเร็ว
ejan อีจัน July 02, 2025 07:29 AM

โปรตีนกินได้ แต่กินมากไปก็ไม่ดี! 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.68 ที่ผ่านมา รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึงรับประทานโปรตีน แต่ก็ได้มีการออกมาเตือนนะคะว่า ถ้าเรากินโปรตีนมากเกิน ก็อาจจะเสี่ยงเป็นหลอดเลือดหัวใจแข็งเร็วได้ ซึ่งอันตรายมากค่ะ  

 


โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การรับโปรตีนคิดเป็น >22% ของพลังงานต่อวัน (เกิน 25 กรัม/มื้อ ที่มี “ลิวซีน” (Leucine) สูง) อาจทำให้แม็คโครฟาจ (macrophage) ในร่างกายถูกกระตุ้นผ่านระบบ mTOR (mechanistic Target of Rapamycin) → นำไปสู่การสะสมคราบหลอดเลือด (atherosclerosis) 

งานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ 

1. Razani et al. (2024): ระบุว่าเมื่อผู้คนกินโปรตีนเกิน 22% ของพลังงานต่อวัน จะกระตุ้นระบบ mTOR ใน macrophage และเพิ่มความเสี่ยงต่อการอักเสบในผนังหลอดเลือดสุทธิ 

2. Kuopio Ischaemic Heart Disease Risk Factor Study (2018): สำรวจชายวัยกลางคนเกือบ 2,500 ราย พบว่าในกลุ่มกินโปรตีนสูง (เฉพาะจากสัตว์) เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เพิ่มขึ้น ~33% เทียบกับกลุ่มกินน้อย 

3. American Heart Association: แนะนำว่าโปรตีนควรคิดเป็น 10–35% ของพลังงานทั้งหมด และควรเลือกแหล่งโปรตีนจากพืชและอาหารทะเลแทนเนื้อแดงและสัตว์แปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ 

ผลกระทบต่อหัวใจ 

1. โปรตีนสูงจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัว  เพิ่ม LDL cholesterol  ทำให้เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 

2. leucine จากโปรตีนสัตว์ ช่วยกระตุ้นระบบ mTOR  ทำให้อักเสบเลือดและสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด 

3. งานวิจัยชี้ว่าเดียวกันนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ในผู้ชายวัยกลางคน

คำแนะนำเพื่อสุขภาพหัวใจ 

1. รักษาสัดส่วนโปรตีนให้ไม่เกิน 22–25% ของพลังงานต่อวัน 

2. เลือกโปรตีนคุณภาพสูง เช่น พืช (ถั่ว, ธัญพืช, เมล็ดพืช) ปลา ไก่ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ 

3. หลีกเลี่ยงโปรตีนจากเนื้อแดงและสัตว์แปรรูป 

4. รักษาสมดุลอาหาร ผัก–ผลไม้–ไฟเบอร์ครบ 

5. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากคุณกินโปรตีนสูงเป็นประจำ 

เพราะฉะนั้นการบริโภคโปรตีนมากเกิน (โดยเฉพาะจากเนื้อสัตว์) อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจและหัวใจวาย การเลือกแหล่งโปรตีนที่หลากหลาย ควรเน้นพืชและอาหารทะเล พร้อมรักษาสัดส่วนภายใต้ 22–35% ของพลังงานต่อวัน ถือเป็นแนวทางที่ช่วยปกป้องหัวใจในระยะยาว 

ใครที่กินโปรตีน ที่เป็นเนื้อสัตว์มากเกินไปก็ลองลดมากิน ผัก-ผลไม้ดูบ้างนะคะ หรือไม่ก็คุมสมดุลของอาหารค่ะจะได้ไม่เสี่ยงเป็นโรคนะคะ 

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ https://www.facebook.com/share/p/1BWbbHWJ6u/ 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.