สืบเนื่อง “เครือมติชน” จัดงานเทศกาล “Thai-Chinese Golden Fest เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี ระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ True Digital Park อาคาร West ชั้น 2
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน เน้นมิติเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางรวมถึงขนาดย่อย
“วันแรกจะเป็นประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ วันที่ 2 เป็นเรื่องวัฒนธรรม ทั้งอิทธิพลของนิยายกำลังภายใน จนถึงวัฒนธรรมยุคติ๊กต็อก ส่วนวันสุดท้ายเน้นที่ผู้ประกอบการ โดยมีเวิร์กช็อปซึ่งจัดโดยนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ว่าด้วยการทำธุรกิจในจีน ถือความครอบคลุมทุกมิติ” นายปราปต์กล่าว
นายปราปต์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีมาอย่างยาวนาน สะท้อนผ่านเนื้อหาของเครือมติชนที่พยายามนำเสนออย่างครบถ้วนทุกมิติ ย้อนไปตั้งแต่เชิงประวัติศาสตร์ในยุคก่อนเกิดรัฐชาติ โดยเมื่อปี 2567 สำนักพิมพ์มติชน ตีพิมพ์หนังสือ รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ไทยจีนในอีกมิติ หรือในภูมิศาสตร์อีกแบบหนึ่ง นอกจากนี้ มติชนยังเป็นสื่อหลักที่มีประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ พ.ศ.2518 โดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ และนายสุทธิชัย หยุ่น จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งจะพัฒนาเป็นเครือมติชนในเวลาต่อมา ได้เดินทางไปร่วมทำข่าวที่กรุงปักกิ่งด้วย ถือเป็นทรัพยากร และประสบการณ์จากอดีตที่สามารถนำมาขยายได้
“เครือมติชนให้ความสำคัญเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลกมาตลอด อย่างปี’67 เราโฟกัสเยอะเรื่องการเลือกตั้งสหรัฐ มีการจัดสัมมนา US ELECTION 2024 เจาะลึก ศึกชิงทำเนียบขาว ส่วนในปีนี้ ครบรอบวาระ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งเหมือนเป็นคู่สนทนาหรือคู่แฝดของงานสัมมนาเจาะลึกศึกเลือกตั้งสหรัฐ ปัจจุบันมีเรื่องสงครามการค้าพอดี โลกและสังคมไทยอาจพยายามหาทางลง การหันมาใส่ใจจีน ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชม หรือการวิพากษ์ จะทำให้เราเจอทางเลือกอื่นๆ ในภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยน และยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ” นายปราปต์กล่าว
นายปราปต์กล่าวว่า ย้อนไปหลังเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว การเมืองโลกเปลี่ยน การเมืองไทยเปลี่ยน เศรษฐกิจขยายขึ้นอีกระดับหนึ่ง ความเป็นจีน และความเป็นไทย เริ่มกลืนกลายได้มากขึ้น เห็นภาพชัดว่า คนไทยเชื้อสายจีนกลายเป็นชนชั้นนำในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม
“ความเป็นจีน วัฒนธรรมจีน ชาติพันธุ์จีน ค่อยๆ กลืนกลายกลายเป็นกระแสหลัก มีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันในทุกมิติ มีทั้งจุดขัดแย้ง จุดคลี่คลาย หรือนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบใหม่ด้วย” นายปราปต์กล่าว
นายปราปต์กล่าวว่า นอกจากงานเทศกาล “Thai-Chinese Golden Fest เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” ระหว่าง 11-13 กรกฎาคมนี้แล้ว เครือมติชน ยังจัด Exclusive Dinner Talk ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ที่ Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวิทยากรได้แก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี
“Exclusive Dinner Talk ครั้งนี้ ชัดเจนว่า ประเด็นหลักคือเรื่องเศรษฐกิจมหภาค โดยธนินท์ เจียรวนนท์ จะย้อนไปสู่อดีตในยุคที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นเอกชนไทยเจ้าแรกที่เข้าไปลงทุนในจีนในช่วงที่เปิดประเทศ และยังเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในจีนด้วย นี่คือผลลัพธ์หนึ่งของการเปิดประตูความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เมื่อ พ.ศ.2518 ขณะเดียวกันเราเชิญคุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นทั้งอดีตผู้นำประเทศ และนักธุรกิจที่ใส่ใจประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ให้มาสะท้อนประสบการณ์ปัจจุบัน สุดท้ายอาจมีจุดที่ให้ทั้ง 2 ท่านมองอนาคตของความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ว่าจะมีความร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง” นายปราปต์กล่าว
ทั้งนี้ งาน “Thai-Chinese Golden Fest เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” 11-13 ก.ค. จัดขึ้นตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ True Digital Park อาคาร West ชั้น 2 โดยมีไฮไลต์ อาทิ นิทรรศการ “Thai-Chinese Golden Fest 2025 จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่แสดงถึงสายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศ ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไปจนถึงโอกาสความร่วมมือในอนาคต
โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจะร่วมนำชมนิทรรศการ พร้อมกับบรรยายเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น นำโดย นายสมชาย จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน-ไทย, นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ซึ่งจะเวียนนำชมนิทรรศการวันที่ 11-13 กรกฎาคม ตามลำดับของการจัดงานตลอด 3 วัน
รวมถึง กิจกรรมเสวนา 6 เวที ได้แก่ เสวนาด้าน “ประวัติศาสตร์” หัวข้อ “ไทย ‘ไม่มา’ จากจีน แต่จีน ‘มา’ จัดการไทย” นำโดย นายสุจิตต์ วงษ์เทศ และเสวนาหัวข้อ “ประวัติจีนกรุงสยาม” นำโดย น.ส.
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, นายปริวัฒน์ จันทร, เจฟฟรี ซุน และนายสมชาย จิว ผู้ดำเนินรายการ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568
ต่อมา กิจกรรมเสวนาด้านซอฟต์พาวเวอร์ ในวันที่ 12 กรกฎาคม ได้แก่ เสวนาหัวข้อ “TikTok Revolution: พลังครีเอเตอร์ที่เปลี่ยนโลกและวัฒนธรรมป๊อป” นำโดย พ่อมด TikTok, “จากกระบี่เย้ยยุทธจักรถึงสตรีมมิง: พลัง C-Pop และดาราจีน” นำโดย นายนนทรีย์ นิมิบุตร, นายปริภัณฑ์ วัชรานนท์, นายณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น, น.ส.ปรภาว์ สมบัติเปี่ยม และนายสมชาย แซ่จิว ผู้ดำเนินรายการ
รวมถึง กิจกรรมเสวนาด้านธุรกิจ ในวันที่ 13 กรกฎาคม ได้แก่ เสวนาหัวข้อ “Brand Go China: บุกจีนให้ปัง ธุรกิจไทยต้องรู้” นำโดย นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี, น.ส.ณชา จึงกานต์กุล และนายอธิกร ศรียาสวิน ผู้ดำเนินรายการ, “Smart China 5.0 เมื่อ AI เปลี่ยนเกมธุรกิจ” นำโดย นายปฤณ จำเริญพานิช และนายกษิดิศ สตางค์มงคล เป็นต้น
สำหรับ Exclusive Dinner Talk ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ จัดขึ้นที่ Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวิทยากรได้แก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมปาฐกถาพิเศษ โดยผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย