“TikTok” กลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดของโลก ในแต่ละเดือนมีผู้คนมากกว่า 1,000 ล้านคนเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันนี้ เนื่องด้วย TikTok เป็นโซเชียลมีเดียรูปแบบวิดีโอสั้น ต้องใช้พื้นที่และพลังงานมากกว่าแพลตฟอร์มที่ใช้ข้อความหรือรูปภาพอย่าง X และ Facebook ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ตามข้อมูลของ Greenly บริษัทที่ปรึกษาด้านบัญชีคาร์บอน พบว่า TikTok ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในแต่ละปีแล้ว TikTok จะอยู่อันดับที่ 59 มากกว่าปริมาณที่เกือบ 150 ประเทศและดินแดนทั่วโลกปล่อยออกมาในแต่ละปี ตามข้อมูลจาก Worldmeter
TikTok ถือเป็นผู้ก่อมลพิษคาร์บอนสูงที่สุดกลุ่มหนึ่ง และผู้ใช้งานใช้เวลาบน TikTok นานกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยใช้เวลามากกว่า 95 นาทีต่อวันบนแพลตฟอร์ม โดยเปิดเฉลี่ย 19 ครั้ง ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ในแอปประมาณ 45.8 นาทีต่อวัน ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนต่อการใช้งานหนึ่งนาทีบนโซเชียลมีเดียสูงสุดเป็นอันดับสอง รองจาก YouTube เท่านั้น
ทุกข้อความ รูปภาพ และวิดีโอที่อยู่บนโซเชียล ล้วนเป็นข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนโดยศูนย์ข้อมูลและเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ โซเชียลมีเดียจึงสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่คาดไม่ถึง ซึ่งเกิดจากทั้งบริษัทและผู้ใช้ กลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ความสัมพันธ์ระหว่างการเลื่อนดูข้อมูลแบบไร้จุดหมายกับการปล่อยคาร์บอนนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา ทุกนาทีที่ใช้บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องใช้พลังการประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์และการส่งข้อมูล สิ่งที่หลาย ๆ คนต้องตระหนักก็คือการเลื่อนดูข้อมูลแบบไร้จุดหมายมีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” อับดุลลาห์ ชอดรี หัวหน้าฝ่ายผลกระทบและผู้ร่วมก่อตั้ง Arbor แพลตฟอร์มบัญชีคาร์บอนกล่าวกับ Fortune
เพื่อให้เห็นภาพของผลการวิจัยของ Greenly พบว่าใน 1 นาทีที่ใช้ไปกับ TikTok จะเผาผลาญคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) 2.921 กรัม หมายความว่าผู้ใช้ TikTok เผาผลาญคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 133.8 กรัมต่อวัน
เมื่อคูณด้วยจำนวนวันในหนึ่งปี ก็จะได้คาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 48.83 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันราว 123 ไมล์ในแต่ละปี ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด ตามมาด้วย YouTube ในอันดับที่ 2 ที่ 40.17 กิโลกรัม ส่วนผู้ใช้ Instagram จะเผาผลาญเพียง 32.52 กิโลกรัม
ที่น่าสนใจคือปริมาณการปล่อยคาร์บอนของ TikTok สูงกว่า Instagram ทั้งที่ Instagram มีผู้ใช้งานมากกว่า TikTok เกือบสองเท่าก็ตาม เป็นเพราะระยะการใช้โดยเฉลี่ยของผู้ใช้งาน Instagram อยู่ที่ 30.6 นาทีต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าผู้ใช้งาน TikTok
ผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส มีประมาณ 156 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 15% ของผู้ใช้งานทั่วโลก โดย Greenly ประมาณการว่า ในแต่ละปี TikTok ปล่อย CO2e ประมาณ 7.6 เมตริกตัน เฉพาะใน 3 ประเทศดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั่วโลกของแพลตฟอร์มน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านเมตริกตัน CO2e
“อัลกอริทึมทั้งหมดถูกสร้างขึ้นโดยอิงจากการวิดีโอที่ผู้ใช้งานชื่นชอบ ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่ในแอปนานขึ้น และยังผลต่อแรงจูงใจให้ผู้คนสร้างรอยเท้าคาร์บอนมากขึ้นเรื่อย ๆ” อเล็กซิส นอร์แมนด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Greenly อธิบาย
อย่างไรก็ตาม TikTok ระบุว่ารายงานของ Greenly ไม่เป็นความจริง แต่บริษัทก็ไม่ได้เปิดเผยฐานผู้ใช้ต่อสาธารณะ และปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับฐานผู้ใช้ โดยโฆษกของ TikTok กล่าวว่าการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของ ByteDance ในปี 2023 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการในทุกบริษัทในเครือ รวมถึง TikTok ด้วยมีไม่ถึง 20% ของการปล่อยคาร์บอนที่ Greenly คาดการณ์ไว้
ในทุกปี ByteDance จะประเมินปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่สอดคล้องกับ GHG Protocol มาตรฐานการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ปี 2021 รวมถึงการปล่อยจากศูนย์ข้อมูลร่วมของบริษัทในทุกภูมิภาคที่บริษัทดำเนินการ
เมื่อเดือนมีนาคม 2023 บริษัทประกาศ แผนที่เรียกว่า “Project Clover” ที่จะช่วยให้บริษัทบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 2030 และช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลโดยรวม แต่จนถึงปัจจุบันกลับมีการสร้างศูนย์ข้อมูลพลังงานหมุนเวียนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งอยู่ในนอร์เวย์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่น 100%
แม้ว่า TikTok จะพยายามจัดการกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ ByteDance ยังไม่ได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนฉบับสมบูรณ์ที่ให้รายละเอียดว่าบริษัทมีแผนจะจัดการกับการปล่อยมลพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างไร
การปล่อยคาร์บอนของ TikTok ถือเป็นการปล่อยคาร์บอนที่คลุมเครือที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Meta และ Google เผยแพร่รายงานโดยละเอียดให้กับ Carbon Disclosure Project องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทุกปี
ในตอนนี้ TikTok เผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการมีส่วนร่วมของผู้ใช้จำนวนมากและการพึ่งพาเนื้อหาวิดีโอที่ใช้พลังงานมาก
ที่มา: Fortune, Sustainability Magazine, The Guardian