เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยและสร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก แม้จะผ่านมา 20 ปี คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา และทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ถล่ม 14ประเทศ ชายฝั่งอันดามัน
คงต้องย้อนเหตุการณ์ กลับไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 กับเหตุการณ์ คลื่นยักษ์สึนามิ ที่ซัดถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ แม้จะผ่านไปนานแล้ว ร่องรอยความเสียหาย และความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายก็ยังคงดำเนินอยู่ ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบเตือนภัยและแผนรับมือภัยพิบัติที่ดีขึ้นแต่ความเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิในอนาคต ยังคงฝังอยู่ในใจคนพื้นที่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งภัยพิบัติครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 4พันคน โดยมีทั้งคนไทย ที่มีทั้งนักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่ รวมทั้งชาวต่างชาติ ที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงนั้น
ในบรรดาเหยื่อของสึนามิ มีคนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากมายที่เสียชีวิต และทิ้งลูกหลาย ที่รอดชีวิตกลายเป็นเด็กกำพร้าไปโดยปริยาย หลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทช่วยเหลือดูแลเด็กและเยาวชน ได้คงลงพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือ”เด็กกำพร้า”สูญเสียพ่อแม่จากสึนามิ
ปัจจุบัน เด็กกลุ่มนี้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนเรียนจบ เข้าทำงานแล้ว แต่บางคนยังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ยังคง ติดตาม ให้ความช่วยเหลือกับเด็กและชุมชนในพื้นที่ประสบภัยอยู่อย่างต่อเนื่อง
ตะวัน ทรายอ่อน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พาเราย้อนกลับไปทบทวนถึงเหตุการณ์ในวันนั้น วันที่สึนามิพรากคนที่รักให้จากไปแบบไม่มีวันกลับถึง 3 ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน กลืนหายไปในชั่วพริบตา
“ผมเกิดและโตในครอบครัวชาวประมง ที่จังหวัดพังงา ผมจำได้ว่าวันที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ วันนั้นปู่กับพ่อผมนำเรือออกทะเล ส่วนผมอยู่บ้าน คลื่นลูกใหญ่ซัดเรือแตก พ่อรอดแต่ปู่จมหายไปกลางทะเล เพียงไม่กี่นาที คลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง ก็พัดเอาร่างของย่าและอาผมกลับลงไปด้วย ส่วนผมและคนอื่น ๆ รอดมาได้เพราะเกาะอยู่บนต้นไม้ หลังจากนั้นเราก็ได้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางจังหวัดจัดให้ “
ตะวันเล่าอีกว่า บรรยากาศในช่วงนั้นต่างเต็มไปด้วยความโศกเศร้าสูญเสียที่ยากจะบรรยาย แม้จะผ่านมานานแล้วแต่ภาพจำเหล่านั้นผมเชื่อว่าผู้ประสบภัยที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยลืมแน่นอน รวมทั้งตัวของตะวันด้วย
แต่บนความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีตามมาอยู่ เมื่อความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้ามายังพื้นที่ประสบเหตุ “ในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่โกลาหลมาก โดยมูลนิธิ ศุภนิมิตฯ อยู่เคียงข้างครอบครัวของตะวัน และเด็กคนอื่น ๆในชุมชนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันแรก เพราะสึนามิยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยการจมน้ำ ไม่รู้วิธีรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ศุภนิมิตฯ เข้ามาฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ ส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนสนับสนุนอุปกรณ์ทำกิน
“ผมก็ได้เข้าร่วม โครงการอุปการะเด็ก ใน จ.พังงา ตั้งแต่นั้นมา จนมาถึง โครงการส่งน้องจบ ป.ตรี ผมเลือกเรียนในสาขาจัดการภัยพิบัติ และปัจจุบัน ผมกำลังฝึกงานอยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อทำตามความฝันที่อยากจะใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการป้องกันภัยพิบัติ และคาดคะเนการเกิดภัยธรรมชาติที่ได้เรียนมากลับไปพัฒนาบ้านเกิด สร้างเกราะป้องกันภัยด้วยการให้ความรู้กับคนในชุมชนด้านการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เพราะไม่อยากให้ภาพจำในอดีตเกิดขึ้นกับทุกคนในชุมชนเพียงเพราะเราขาดความรู้และความเข้าใจในการเอาตัวรอด เราได้สร้างภาคีเครือข่ายกับคนรุ่นใหม่ในแต่ละชุมชนเป็นสื่อกลางให้เด็ก ๆ และชุมชนรู้จักวิธีการรับมือกับภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงทีด้วยครับ”ตะวันเล่า
ด้าน ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เผยถึงแนวนโยบายการรับมือกับภัยพิบัติของมูลนิธิศุภนิมิตฯ เพื่อเตรียมพร้อมในพื้นที่ดูแลของมูลนิธิฯ ว่า “สึนามิเมื่อปี 2547 ยังคงเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 รายใน 14 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ World Vision(ศุภนิมิตสากล) ดำเนินการตามแนวทาง First In, Last Out โดยเราให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการช่วยชีวิตมาเป็นอันดับแรก จากนั้น จึงดำเนินการตามแผนในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือครอบครัวในด้านต่าง ๆ ให้ฟื้นตัวได้ และสร้างบ้านใหม่
” กรณีของน้องตะวัน เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดี ถึงผลกระทบและความพยายามร่วมกันของเรา ที่ทำสำเร็จตลอด 20 ปีหลังเกิดเหตุ เรารู้สึกขอบคุณที่เห็นเขาและชุมชนของเขา พัฒนาฟื้นฟูตนเองขึ้นมาได้ และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น “
ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว World Vision ยังได้ให้ความช่วยเหลือใน 4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และเมียนมาร์ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนภายใน 90 วันแรกหลังเกิดเหตุผ่านการมอบสิ่งของจำเป็นในการช่วยชีวิต เช่น อาหาร น้ำ ชุดสุขอนามัย พื้นที่สำหรับเด็ก และผู้คนอีก 1.1 ล้านคน สำหรับความพยายามในการบำรุงและฟื้นฟู เช่น การสร้างบ้านและโรงเรียน การเสริมสร้างศักยภาพในการดำรงชีพ และการศึกษา ตลอดจนการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เช่น การปลูกป่าชายเลนทดแทน เป็นต้น
ดร.สราวุธ กล่าวอีกว่า แม้เวลาจะผ่านมานาน20ปี แล้ว แต่ศุภนิมิตฯ เรายังลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้า ทำกิจกรรมกับเยาวชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เราทำงานภายใต้แผนการดำเนินงานด้านลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction : DRR) ให้กับชุมชนและโรงเรียน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังมีการเปิดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ดำเนินงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้ง พื้นที่ภาคใต้ที่เคยประสบกับภัยพิบัติสึนามิ เพื่อเป็นการให้เด็ก ครอบครัวและชุมชน ได้ป้องกันเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเมื่อต้องประสบกับภัยพิบัติในทุกรูปแบบ
เรื่องราวของ ตะวัน ทรายอ่อน หนึ่งในตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบ ยังคงถูกพูดถึงและหยิบยกขึ้นมาเป็นบุคคลต้นแบบที่เป็นเด็กในโครงการอุปการะของศุภนิมิตฯ ได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูด้านต่าง ๆ ตามแผนนโยบายรับมือภัยพิบัติ จนในวันนี้เติบโตเป็นบุคลากรคุณภาพ ที่พร้อมจะส่งต่อความช่วยเหลือให้สังคมและชุมชนของเขาต่อไปได้