เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี
“ แนวโน้มผลลัพธ์คือบ้านใหญ่บวกพรรคใหญ่ ก็จะเป็นคำตอบของชัยชนะสนาม อบจ.”
หมายเหตุ : หนึ่งในปัจจัยเพิ่มความเข้มข้นทางการเมือง ปี 2568 คือการเมืองระดับท้องถิ่น สนามเล็กที่ไม่เล็ก แต่มีความสำคัญต่อฐานการเมืองใหญ่ระดับประเทศ คือการเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศ ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวการเมืองสยามรัฐ” ถึงทิศทางการเมืองไทย โดยมีความเชื่อมโยงกับการทำงานของรัฐบาล การบริหาร “วิกฤต” ให้เกิด “โอกาส” สำหรับ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
- การทำงานของรัฐบาลที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ในมุมมองเป็นอย่างไร
แพทองธาร เพิ่งเริ่มทำงานมา 3 เดือนกว่า ๆ ถ้าเป็นทฤษฎีดังเดิม คือช่วงฮันนีมูนพีเรียด เพียงแต่ว่า แพทองธาร เข้ามาในยุคที่ไม่ใช่หลังเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยมีนายกฯ ที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน มาเป็นปีแล้ว
แม้ว่าการที่ แพทองธาร จะมาบริหารประเทศ 3 เดือนกว่า คนก็อาจคาดหวังเยอะ ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้ระดับหนึ่ง เช่น การต่อยอดเงินหมื่นดิจิทัล ที่รัฐบาลเศรษฐา เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว และรัฐบาลแพทองธารได้แจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางก่อน ก็พอให้เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมว่า เฟสต่อไปที่รัฐบาลวางไว้พอที่จะเห็นฝั่งอยู่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร
เป็นจังหวะเวลาที่ให้เห็นว่า รัฐบาลมีการเคลื่อนไหว ทำอะไรให้กับประเทศชาติได้ และช่วงที่รัฐบาลเข้ามาเป็นจังหวะปลายปีมีการประชุมที่สำคัญในต่างประเทศเยอะ จึงมีส่วนทำให้นายกฯ ได้แสดงบทบาทในเวทีนานาชาติ มีโอกาสสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาล
สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่กลับปล่อยให้ผ่านไปคือ วิกฤติของประเทศ เช่น ภัยธรรมชาติ โดยปกติถ้ารัฐบาลตอบสนองได้รวดเร็วและตรงใจประชาชนก็จะเข้าไปช่วยกู้สถานการณ์ ทำให้รับคะแนนนิยมจากประชาชนได้สบาย ๆ แต่ปรากฎว่า ทั้งรัฐบาลหรือตัวนายกฯ บางพื้นที่ทำได้ดีจนได้คะแนนความนิยม
แต่บางพื้นที่กลายเป็นภาพจำ เช่น กรณีน้ำท่วมภาคใต้ ที่สื่อมวลชนได้มีการตั้งวาทะแห่งปีว่า "สามีเป็นคนใต้" ทั้งที่วิกฤติอย่างนี้ รัฐบาลโดยปกติ ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ มักจะทำงานได้รวดเร็ว ฉับไว ทันใจประชาชน และได้รับความนิยมจากประชาชนกลับมา แต่พอกลับมารอบนี้ ที่มีนายกฯ ชื่อ แพทอองธาร ไม่สามารถ ฉกฉวยผลงานตรงนี้ได้ดีเท่าที่ควร กลายเป็นว่าครึ่งๆ ไป คนที่ชอบก็ชอบไปอีก คนที่ไม่ชอบก็เอามาเป็นประเด็นโจมตีได้
- รัฐบาลควรที่จะฉกฉวยอะไรให้ได้มากกว่านี้
รัฐบาลคงได้รู้บ้างแล้วว่า เวลาตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติอะไร แบบไหนที่คนชอบ แบบไหนคนไม่ชอบ ต่อไปข้างหน้าจะมีปัญหาอีกเยอะ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม อุบัติภัย เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ เอาบทเรียนจากตรงนี้ไปสร้างกลไกที่รัฐบาลสามารถสั่งการได้เองอย่างรวดเร็ว
วันนี้พอที่จะเห็นช่องโหว่แล้ว การที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลจริง นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทยจริง แต่เป็นรัฐบาลผสม บางทีกลไกการแก้ปัญหาไปอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่สามารถบูรณาการหรือสั่งการตรงได้จากนายกฯ ได้อย่างรวดเร็ว ก็อาจจะต้องหาวิธีการวางเครื่องไม้เครื่องมือไว้ หากในสถานการณ์ฉุกเฉินจะทำอย่างไรให้อำนาจสั่งการมาอยู่ที่ตัวนายกฯ และเกิดการบริหารจัดการที่ให้คนเห็นภาพว่า เป็นสิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญ และสามารถจัดการปัญหาได้รวดเร็วถูกใจประชาชน
วันนี้มีปัญหาคล้ายกับว่า กลไกหลัก ๆ เช่น การแก้ปัญหาภัยพิบัติไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย ก็ต้องวางกลไกที่จะสามารถดึงอำนาจสั่งการมาไว้ที่นายกฯ ให้ได้และมีแอคชั่นที่รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ต้องมองไปวันข้างหน้าจากบทเรียนที่ผ่านมา
- การที่อำนาจสั่งการของนายกฯ ไม่เบ็ดเสร็จ ทำให้อำนาจไปอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลดูแข็งกว่าใช่หรือไม่
ไม่เชิงแข็งกว่าในแง่เขามีอำนาจมากกว่า หรืออำนาต่อรองสูง อย่างเคส กระทรวงมหาดไทย เขาอาจจะมีความช่ำชองกว่า เพราะคนที่มานั่งมีประสบการณ์สูง ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล ตอนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ผ่านยุคโควิดมาแล้ว วันนี้เมื่อมาอยู่กระทรวงมหาดไทยเขาก็ใช้เครื่องไม้เครื่องมือได้รวดเร็วและรู้ใจประชาชนมากกว่า
แพทองธาร ก็ต้องเรียนรู้จากความช่ำชองของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแพทองธารยังมีประสบการณ์ทางการเมืองในสนามที่เป็นทางการน้อยอยู่ ส่วนจะทำอย่างไรผู้ที่สนับสนุนต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจรัฐมานานตั้งแต่พรรคไทยรักไทยก็ต้องหาวิธี ทีมยุทธศาสตร์พรรค ที่ปรึกษาของนายกฯ ก็ต้องช่วยกัน
- การที่ ทักษิณ เข้ามามีบทบาทจะช่วยให้ แพทองธาร ทำงานในฐานะนายกฯ ได้สะดวกหรือไม่
การที่ทักษิณเข้ามาช่วยเยอะ ก็ยิ่งสะดวกมาก เพราะทักษิณมีความเพียบพร้อม เป็นนายกฯ มา 2 สมัย เป็นแบ็คอัพในวันที่ตัวเองไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาตลอด คนที่มีประสบการณ์เห็นปัญหาจะเข้าใจ วันนี้เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ยิ่งเห็นภาพชัด ฉะนั้นถ้าไม่คิดอะไรมาก ทักษิณ สามารถแนะนำอะไรได้หมด ซึ่งนายกฯ ก็มีหน้าที่แค่เอาไปดำเนินการตามก็เพียงพอแล้ว
เพียงแต่ว่าความเป็นนายกฯ จะต้องมีภาวะผู้นำ ถ้าเอาความสะดวก ง่ายอย่างเดียวทำได้ แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ในฐานะที่ตัวเองมีตำแหน่งที่เป็นทางการคือ เป็นนายกฯ ซึ่งคนก็คาดหวังถึงภาวะผู้นำ
การมีตัวช่วยเป็นคุณพ่อไม่มีใครว่า ช่วยไปในทางที่ถูกที่ควร แต่จะทำอย่างไร สิ่งคุณพ่อช่วยนั้น นายกฯ สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นคำแนะนำ การให้คำปรึกษา การสนับสนุน แต่สิ่งที่เกิดผลแล้ว เอาไปดำเนินการในฐานะนายกฯ อย่างเป็นทางการ ผู้มีอำนาจลงนามต่างๆ หรือการตัดสินใจสุดท้ายจริงๆ จะแสดงให้เห็นอย่างไร เพราะตัวนายกฯ เองก็มีส่วนสำคัญ คือคล้ายกับว่า มีคนแนะแนวทางมา แต่สิ่งนั้นจะเกิดผลได้ก็ต้องเมื่อ คนที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างเป็นทางการ เลือกใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา และตัวเองแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะ หรือภาวะผู้นำในการตัดสินเรื่องนั้นๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคตคือ ตอนที่นายกฯ แถลงผลงานรัฐบาล 90 วัน และพูดถึงโรดแมปปี 68 จะสร้างความหวังอะไรให้กับประเทศชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่ปัญหาคือสิ่งที่ นายกฯ นำเสนอกับสิ่งที่ ทักษิณ ให้สัมภาษณ์หรือพูดมาก่อนแล้วมันตรงกัน จนเกิดการเปรียบเทียบถึงวิธีการสื่อสาร คนไปเทียบว่า ทักษิณคิดได้ สื่อสารได้ รู้เรื่อง อธิบายเรื่องยากๆ ให้คนเข้าใจว่า จะทำอะไร
ขณะที่นายกฯ ก็เหมือนสมฉายา "แพทองโพย" คือสื่อสาร หรือนำเสนอ เหมือนกับการอ่านโพย เลยไม่เป็นตัวของตัวเอง คนก็ไปตั้งคำถามกลับว่า เข้าใจในสิ่งที่พูดอยู่หรือเปล่า อันนี้เป็นการทำลายภาวะผู้นำ การมีคนคิดให้ มีคนแนะนำให้ไม่มีปัญหา แต่การที่สื่อสารออกไป แล้วสะท้อนว่าการที่คุณไปเอาคำแนะนำมา คุณไม่ได้เข้าใจในสิ่งนั้น แล้วนำมาถ่ายทอด อันนี้ไม่เป็นภาพที่ดีสำหรับคนที่เป็นผู้นำประเทศ
ทีมสื่อสารของนายกฯ อาจจะต้องปรับกลยุทธใหม่ไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบชัดเจน และวิธีการสื่อสารก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ นายกฯ ไปยืนพูดคนเดียวที่ดูทันสมัย แต่บางทีผู้นำประเทศ ความเป็นกันเองกับคนฟังก็สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อจะพูดถึงผลงานรัฐบาลหรือทิศทางที่รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ
จินตนาการของการสื่อสารคือ ต้องให้นายกฯ คุยกับประชาชน ให้มีความรู้สึกว่า คำพูดนายกฯ ที่สื่อออกมาแต่ละคำ สื่อไปถึงใจประชาชน มากกว่าเหมือนการท่องบท หรือจัดการแสดงที่บอกว่าดูดี ดูสมาร์ท ดูเป็นผู้นำยุคใหม่ แต่คนฟังแล้วอินเนอร์ไม่ได้ และไม่สื่อถึงใจผู้ฟัง โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่รู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจกับประชาชน และกำลังจะทำในสิ่งที่จะคลี่คลายความกังวล หรือความทุกข์ของประชาชน มันไม่มีอารมณ์นั้นเลย
เมื่อเปรียบเทียบกับ ทักษิณ ที่พูดเหมือนเข้าใจปัญหา เข้าใจถึงความทุกข์ยากของประชาชน และคิดว่าจะทำอย่างไรในเชิงนโยบาย ตรงนี้เรายังหาไม่ได้จากนายกฯ
- มองการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( นายก อบจ. ) ในช่วงนี้ที่มีความดุเดือดอย่างไร
วันนี้พอจะเดาผลได้แล้วว่า การเลือกตั้งนายก อบจ. โดยภาพรวมๆ แนวโน้มคือเป็นการเมืองบ้านใหญ่ ที่รักษาฐานเสียงใน อบจ. เอาไว้ก่อนหน้านี้จะรักษาเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ หรือต่อให้เปลี่ยนไปเป็นบ้านใหญ่หลังที่แล้ว ก็จะเปลี่ยนไปสู่บ้านใหญ่หลังใหม่
จะไม่เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นการเมืองใหม่ที่เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างในจังหวัดนั้นๆ ได้ จะเป็นคนที่หมุนเวียนอยู่ในกลุ่มบ้านใหญ่เท่านั้น เพราะในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น คนที่มีสไตล์การเมืองแบบบ้านใหญ่ เขายังได้เปรียบในกติกาปัจจุบันแบบนี้ ซึ่งโดยพฤติกรรมและความคาดหวังของคนในพื้นที่ต้องการคนที่เข้ามาดูแลสารทุกข์สุกดิบในชีวิตประจำวันได้มากกว่า คนที่มาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหมือนการเมืองภาคใหญ่
ขณะเดียวกันครั้งนี้ บ้านใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่ เพราะการเมืองใหญ่ มองสนามเลือกตั้ง อบจ. เป็นฐานคะแนนสำคัญที่ต้องผูกสมัครรักใคร่กันไว้ เพื่อปูทางไปสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติในวันหน้า พรรคใหญ่ก็จะผูกปิ่นโตกับบรรดาบ้านใหญ่ในสนาม อบจ. รอบนี้ จึงเกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ส่วนบ้านใหญ่ก็สมประโยชน์ เพราะการที่มีพรรคใหญ่สนับสนุน โดยเฉพาะพรรคที่เป็นรัฐบาล เขาก็มีโอกาสชนะการเลือกตั้งง่ายขึ้น ขณะเดียวกันพอชนะการเลือกตั้งแล้ว โอกาสที่เขาจะอยู่ในตำแหน่ง และมีผลงานก็จะมากขึ้น ตรงที่สามารถเชื่อมโยงกับรัฐบาลส่วนกลางได้ การบริหารงบภายในจังหวัดตัวเอง การที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากงบส่วนกลางของรัฐบาล เขาสามารถทำอะไรได้เยอะขึ้นที่จะสร้างความนิยม สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รอบหน้าเขาก็มีโอกาสกลับมาอีก เราก็จะเห็นภาพแบบนี้ แนวโน้มผลลัพธ์คือบ้านใหญ่บวกพรรคใหญ่ ก็จะเป็นคำตอบของชัยชนะสนาม อบจ.
- การเมืองบ้านใหญ่บวกกับอิทธิพล จะทำให้เกิดความรุนแรงแบบกรณีของจังหวัดปราจีนบุรีอีกหรือไม่
เหตุการณ์ที่จังหวัดปราจีนบุรีเป็นบทเรียนละถูกพูดถึงเยอะ ผู้คนให้ความสนใจ และปฏิกิริยาของคนเหนื่อยหน่ายและไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง ช่วงหลังๆ ค่อนข้างที่จะเบาลงเยอะเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว
แปลว่าหากวันนี้พรรคการเมืองใหญ่จับมือกับบ้านใหญ่ต้องช่วยกันลบภาพแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก แปลว่าโอกาสที่บ้านใหญ่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ลงสนามจะทำอะไรแบบนี้ก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง เพราะไม่ใช่แค่ภาพพจน์ของตระกูลนั้นๆ ในจังหวัด แต่เวลาที่บ้านใหญ่ถูกหนุนโดยพรรคการเมืองใหญ่ เขาก็ต้องรักษาภาพลักษณ์พรรคการเมืองเขาด้วย อย่าให้ตัวเองไปเสื่อมเสียกับเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ
ซึ่งแนวโน้มหลังจากนี้จากวันที่เปิดรับสมัครไปจนถึงวันเลือกตั้ง 1 ก.พ. 68 ก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงแบบที่จังหวัดปราจีนบุรีได้อีก แต่ถ้าจะไปแก้แค้นเอาคืนกันตอนหลังเลือกตั้ง หรือรอให้เรื่องพวกนี้ซาไปจากสังคมก็อาจจะยังมีอยู่ เพราะเป็นวัฒนธรรมบางอย่างในเกมการเมืองที่ยังมีอยู่ ซึ่งปฏิเสธได้ยาก จะให้เหลือศูนย์ก็คงลำบาก เฉพาะหน้าไม่น่าจะเกิด เพราะต่างฝ่ายต่างต้องรักษาภาพลักษณ์กันเอง และกลัวเสียฐานคะแนนแบบจังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงตัวพรรคใหญ่ที่จะเสียไปด้วย
- การปราบปรามผู้มีอิทธิพลจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะสนาม อบจ. ก็มีความรุนแรงมานาน
เป็นเรื่องระยะยาว ระยะสั้นก็คงลำบาก ความเป็นผู้มีอิทธิพลของบ้านใหญ่หลายๆ พื้นที่ก็ยังมีอยู่ แล้วผลประโยชน์ที่เขาดูแลอยู่โดยเฉพาะของกลุ่มเขา บางครั้งจำเป็นที่จะต้องใช้อะไรนอกกฎหมายเข้าไปควบคุม เสริมกับอำนาจตามกฎหมายที่เขามี เป็นสิ่งที่ยังฝังอยู่ตรงนี้ แต่แนวโน้มหลังๆ มา เหตุการณ์ความรุนแรงเบาลงกว่าในอดีตเยอะ เพราะส่วนหนึ่งคือ เรื่องกฎหมาย และรัฐบาลที่เขามาบริหารประเทศ เขาก็รู้สึกไม่โอเคที่จะปล่อยให้มีเรื่องแบบนี้ คนผิดไม่ถูกจับหรือจับได้แต่แพะ ซึ่งถูกกดดันมาเป็นระยะพอสมควร แปลว่าในอนาคตน่าจะดีขึ้น พอมีเหตุการณ์แบบจังหวัดปราจีนบุรีก็ต้องรีบเข้าไปจัดการไม่ให้เกิดเป็นเยี่ยงอย่างกับที่อื่น กระบวนการยุติธรรมเขาไม่อาจยอมรับได้อยู่แล้ว ถ้าทำอะไรที่อุกอาจมากเกินไป
- พรรคประชาชนส่งแกนนำหาเสียงจังหวัดต่างๆ สนาม อบจ. จะสามารถคว้าชัยจากพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่
ตอนนี้พรรคประชาชนลุ้นได้จังหวัดเดียว คือ การเลือกตั้งนายก อบจ.นครนายก และเป็นจังหวัดที่ลุ้นแบบโหดร้ายกับจุดยืนของพรรคประชาชน เพราะไม่ใช่การเมืองแบบใหม่ที่จะเข้าไปเปลี่ยนการเมืองในสนาม อบจ. สมมติว่าผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคประชาชนชนะจริง จะกลายเป็นโมเดลที่บ้านใหญ่จับมือกับพรรคประชาชนลงสมัครเลือกตั้ง เพราะว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ. คืออดีตนายก อบจ.คนปัจจุบัน ที่มีความเป็นตระกูลบ้านใหญ่ในจังหวัดนครนายก แต่เขาเลือกที่จะมาใส่เสื้อสีส้ม
ก่อนหน้ามีความกังวลกันว่ากระแสสีส้มดี ทำให้บ้านใหญ่ส่งลูกหลานมาใส่เสื้อสีส้ม เมื่อทรัพยากรบ้านใหญ่บวกกระแสสีส้ม น่าจะชนะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ง่าย ๆ แต่สนาม อบจ.ที่ผ่านๆ มา จะพบว่าบ้านใหญ่อาจจะกังวลผลการเลือกตั้งปีก่อน แต่ก็ใจถึงที่จะลาออกแล้วไปสู้
ซึ่งพบว่ากระแสสีส้มในสนามท้องถิ่น ไม่ได้แรงน่ากลัวเท่าระดับชาติ โมเดลบ้านใหญ่จับมือกับสีส้มก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคอนเฟิร์ม จากการเลือกตั้งแต่ละครั้งก่อนหน้านี้ ที่สีส้มไม่ได้แรงขนาดที่จะมาคุกคามชัยชนะของบ้านใหญ่ในสนาม อบจ. ได้
ขณะที่พรรคประชาชน เมื่อเปิดรับผู้สมัครจากบ้านใหญ่มาเป็นผู้สมัครของตัวเอง ก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะรักษาจุดยืน อุดมการณ์ของตัวเองไว้ คือถ้าบ้านใหญ่ไม่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับพรรคชัดเจน แต่เป็นบ้านใหญ่ที่ทำการเมืองแบบเก่า เขาก็ไม่กล้าที่รับเข้ามา เพราะเขาก็มองไปถึงระยะยาวในระดับชาติที่ต้องรักษาจุดยืน รักษาอุดมการณ์ ถ้าไปการเมืองคล้อยตามแบบพรรคอื่นๆ เขาก็จะไม่มีความพิเศษ
จะเห็นได้ว่าผู้สมัคร นายก อบจ. ของพรรคประชาชนที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นคนที่มีภาพลักษณ์คนในตระกูลบ้านใหญ่ของจังหวัด หลาย ๆ คนโนเนม จนคนตกใจว่าพรรคส่งใครมา ซึ่งบางคนก็อยากจะเลือก แต่พอเห็นตัวคนแล้วไม่ไหวจริง ๆ ไม่เชื่อมั่น เพราะการเมืองท้องถิ่นโดยเฉพาะ อบจ. จะภาพที่คุณต้องดูแลทั้งจังหวัด การที่คุณจะเอาแต่แกนนำมาช่วยหาเสียง เหมือนเอาพระอาทิตย์มาล้อมดวงจันทร์ จนไม่รู้ว่าคนไหนคือผู้สมัครกันแน่ แต่จะให้คนคาดหวังว่าพอเลือกตั้งแล้ว พรรคประชาชนชนะ เดี๋ยว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาบริหารจังหวัดมันก็ไม่ใช่ เขาก็ต้องการตัวคนที่ใช้ได้อาจจะหน้าใหม่ทางการเมือง แต่อย่างน้อยก็ต้องเกิดความมั่นใจว่าเป็น นายก อบจ.ได้ มาทำงานร่วมกับข้าราชการท้องถิ่นได้ มาทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ได้
กลายเป็นว่าโอกาสของพรรคประชาชนที่จะชนะในสนามเลือกตั้ง นายก อบจ.นั้นยากมาก จะชนะได้ก็ต่อเมื่อคุณจับมือกับบ้านใหญ่
- การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ จะสะท้อนภาพการเลือกตั้งสนามใหญ่อย่างไร
สะท้อนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้สะท้อนแบบตรงๆ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะวันนี้สนามเลือกตั้ง อบจ. เป็นสนามที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะปีกที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ก็ทำการเมืองผูกกับบ้านใหญ่อยู่ เพื่อให้ได้ที่นั่งในระดับเขตเลือกตั้งเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็จะพยายามล็อกกลุ่มที่เข้มแข็งให้ได้ ถ้าหวังว่าสนามระดับชาติจะต้องเป็นพรรคใหญ่อันดับหนึ่ง อย่างพรรคเพื่อไทยที่ความชัดเจน และที่ทักษิณ ประกาศตั้งเป้าจะกวาด สส. 200 ที่นั่งก็ต้องยึดบ้านใหญ่ไว้ เพื่อหวังที่จะชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งระดับชาติ
ส่วนที่บอกว่าไม่สะท้อน 100 เปอร์เซ็นต์เพราะเมื่อถึงสนามเลือกตั้งระดับชาติ ก็จะมีอีกโจทย์หนึ่ง ที่แต่ละพรรคจะต้องทำเพิ่ม ไม่ใช่ว่าวันนี้คุณยึด อบจ. ได้ 50 จังหวัด แล้วแปลว่ารอบหน้าคุณจะได้ สส.ใน 50 จังหวัดมันไม่ใช่ ซึ่งมีบทเรียนจากปี 63 ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวพรรคพลังประชารัฐ ออกมาบอกว่า ยึด อบจ. ได้ 50 จังหวัด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ สส.เขตทั้ง 50 จังหวัด เพราะธรรมชาติของการเลือกทั้ง 2 สนามไม่ได้เหมือนกัน
การมีบ้านใหญ่ การมีนายก อบจ. ผูกไมตรีไว้กับพรรค และลงไปสู้กันในสนามเลือกตั้งระดับชาติ ช่วยแค่ระดับหนึ่ง เพราะมีฐานคะแนนจัดตั้งชัดเจนที่ตุนเอาไว้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะชนะในเขตเลือกตั้ง เพราะจะมีคะแนนของคนที่ไม่ได้ลงคะแนนเลือกตั้ง อบจ. จำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่มีความชัดเจนว่า คนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. อยู่ที่ 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ค่าเฉลี่ยการไปลงคะแนนเลือกตั้งใหญ่ของประเทศอยู่ 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบางจังหวัดคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 80 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าจะมีคนอีก 20-25 เปอร์เซ็นต์ที่จะมาเพิ่ม ตรงนี้พรรคการเมืองที่มีเฉพาะบ้านใหญ่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะชนะในระดับชาติได้
เพราะการเมืองสนามใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องไปชิงในเรื่องกระแส นโยบาย การเสนอใครเป็นนายกฯ จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ประชาชนก็จะมีปัจจัยในการเลือกเพิ่มเติมอีก
- การที่ อบจ. เป็นคนจากพรรคเพื่อไทยได้ จะสามารถประสานกับรัฐบาลส่วนกลางได้ดีขึ้นหรือไม่
ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะโครงสร้างออกแบบมาแบบนี้ คือถ้าท้องถิ่นเป็นเนื้อเดียวกันหรือฝ่ายเดียวกับรัฐบาล โอกาสที่จะพัฒนาท้องถิ่นทำได้ดีอยู่แล้ว เพราะท้องถิ่นวันนี้ดูแลงบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ดูแลโดยรัฐบาล ซึ่งในส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ดูแลได้ระดับสารทุกข์สุกดิบ ที่ทำได้แค่เก็บขยะ กวาดถนน ฉีดวัคซีน ถ้าจะหวังพัฒนาจังหวัดให้เป็นรูปเป็นร่างพลิกโฉม ส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ต้องพึ่งรัฐบาลกลาง เพราะโครงสร้างการบริหารประเทศไทยเป็นแบบนี้
แปลว่าการที่ประชาชนเลือกบ้านใหญ่ที่ผูกไมตรีกับพรรครัฐบาล เขาก็คิดถูกในทางปฏิบัติ เพราะถ้าไปเลือกทีมฝ่ายค้านมา จะทำอะไรได้ด้วยงบประมาณที่มีอยู่ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางที่ดูแลงบประมาณส่วนใหญ่ ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ เปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนสัดส่วนงบประมาณให้มาที่ท้องถิ่นมากกว่านี้ เช่น 50 - 50 เปอร์เซ็นต์ ท้องถิ่นถึงจะทำอะไรได้เยอะขึ้น