นฤมล ส่งเสริมคนอีสาน ปลูกพืชมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ กางโรดแมป แก้ดินเสื่อม-นํ้าแล้ง
GH News January 04, 2025 08:40 AM

‘นฤมล’ ชูเพิ่มรายได้เกษตรกรอีสาน หนุนปลูกพืชมูลค่าสูง เพิ่มตลาดส่งออกจีน กางโรดแมป แก้ดินเสื่อม-นํ้าแล้ง ปลดล็อกผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ “เครือมติชน” จัดงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤต

ในช่วงเวลา 14.10 น. ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในหัวข้อ “ดิน น้ำ เส้นเลือดใหญ่เกษตรกรอีสาน” ว่าจากประชากรในประเทศไทย 68 ล้านคน มีเกษตรกรทั้งประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 8 ล้านครัวเรือน หรือ 30 ล้านคน ถือเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ และอยู่ในภาคอีสานถึง 14 ล้านคน นับเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภาคอีสานทั้งหมด ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศไทย มีทั้งหมด 147.73 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน 64.29 ล้านไร่ ทำให้ภาคอีสานมีความสำคัญต่อภาคการเกษตรอย่างมาก โดยจากพื้นที่ทั้งหมดเป็นการปลูกข้าวไปแล้วกว่า 40 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ส่วนลำดับรองลงมาคือยางพารา 6 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 5 ล้านไร่ อ้อย 4 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ล้านไร่ นอกจากนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตรทั้งหมดนั้น 1 ใน 4 มาจากภาคอีสาน ซึ่งมาจาก จ.นครราชสีมา 12.89 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเยอะที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชากรภาคการเกษตรจะเยอะที่สุดในภาคอีสาน แต่รายได้เงินสดสุทธิต่อครัวเรือน อยู่ที่อันดับ 3 แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคการเกษตร หมายความว่า เกษตรกรไทยมีรายได้เฉพาะฤดูกาล เมื่อถึงเวลานอกฤดูกาลเพาะปลูกก็เข้ากรุงเทพฯมาทำอาชีพอื่นๆ ทำให้รายได้เงินสดสุทธิต่อครัวเรือนยังน้อยกว่าภูมิภาคอื่น

ศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสินค้าที่เกษตกรมีการเปลี่ยนมาเพาะปลูกและเลี้ยงมากขึ้น ได้แก่ ทุเรียน ที่เป็นพระเอกของการส่งออก เงาะ โคเนื้อ ซึ่งจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องทำงานกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยการค้าขาย รวมถึงการทำการตลาดประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการเจรจาค้าขายสินข้าเกษตร

“จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ได้มีการบรรลุข้อตกลงการส่งออกโคเนื้อ จึงเชื่อว่าจะทำให้ราคาของโคเนื้อสูงขึ้น และในอนาคต จะเดินหน้าการส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งมีปริมาณการบริโภคมโหฬาร เชื่อว่าภายในปีหน้าจะเคลียร์ปัญหาที่ทำให้ติดขัดได้จบ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า เพื่อบรรลุข้อตกลงและลงนามพิธีสารถึงการส่งออกโคเนื้อและโคมีชีวิต” ศ.ดร.นฤมลกล่าว

ศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แปลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม ดูว่าพืชชนิดไหนมีความต้องการมาก และทำรายได้ดี โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนจากพืชเดิมปลูก ได้แก่ กาแฟ ถั่วเหลือง เมล็ดโกโก้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกษตกรคุ้นเคยกับการเพาะปลูกแบบเดิม อีกทั้งโครงสร้างประชากรเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ แต่เราก็พยายามที่จะให้ความรู้ รวมถึงเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น โดยมีโครงการ young smart farmer รวมถึงโครงการสนับสนุนครบวงจร ทั้งแหล่งเงินทุน การอบรมให้ความรู้ การให้พื้นที่เพาะปลูก การลงทุนผลิตภัณฑ์แปรรูป

ศ.ดร.นฤมลกล่าวอีกว่า แม้ว่าสินค้าเกษตรจะส่งออกได้มากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศจีน ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9 เปอร์เซ็นต์ แต่เม็ดเงินที่กลับเข้าสู่กระเป๋าของเกษตรกรยังไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่ไปที่พ่อค้าคนกลางและภาคเอกชน จึงอยากทำความร่วมมือกับภาคเอกชนขยายพื้นที่ทำการเกษตรพันธสัญญาให้มากขึ้น เพื่อแบ่งปันกำไรให้เกษตรกรมากขึ้น ซึ่งได้มอบนโยบายให้กับทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แล้ว ยืนยันว่าการเพิ่มรายได้ไม่ใช่แค่เฉพาะประชาชาติ แต่ต้องเป็นรายได้ของเกษตกร

ศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า จากการเพาะปลูกแบบเดิมเป็นเวลาหลาย 10 ปี ทำให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้ทำการศึกษาแล้วพบว่าในภาคอีสานมีพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็ม 2.2 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และหลายพื้นที่เป็นดินทราย จึงไม่สามารถเก็บอุ้มนํ้าสำหรับการเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้ดินเสียสมดุลและเกิดการเสื่อมสภาพ ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงมีโครงการเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งบรรจุในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 รวมถึงปีต่อๆ ไป เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เรื่องของคุณภาพดิน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่เห็นความสำคัญ และสนับสนุนให้กรมพัฒนาที่ดินทำโครงการพระราชดำริหลายโครงการด้วยกัน และเรายืนยันว่าจะทำหน้าที่ต่อไปเพื่อถวายงานให้พระองค์ท่าน

ศ.ดร.นฤมลกล่าวด้วยว่า ในปี 2568 กรมพัฒนาที่ดินได้บรรจุงบประมาณไว้ 688 ล้านบาท สำหรับโครงการในพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่ 2.2 ล้านไร่ที่มีปัญหา โดยแบ่งเป็นภาคอีสานตอนบน 19 โครงการ ภาคอีสานตอนกลาง 10 โครงการ และภาคอีสานตอนล่าง 20 โครงการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2568 และจะบรรจุโครงการเพิ่มเติมในปี 2569 ทั้งนี้ การที่ผลผลิตต่อไร่ของประเทศไทยถึงสู้ประเทศข้างเคียงไม่ได้ ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องนํ้าอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องคุณภาพของดินด้วย

ศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาคอีสานอยู่ในพื้นที่ที่ฝนตกน้อยกว่าภาคอื่นๆ และส่วนใหญ่จะตกบริเวณชายขอบอีสานตอนบน แต่บริเวณอีสานตอนกลางกับตอนล่างตกน้อยมาก ทำให้เกษตรกรที่พึ่งพานํ้าฝนเป็นหลัก ไม่สามารถทำผลผลิตต่อไร่ได้มากเท่ากับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน จึงเกิดกรมฝนหลวง และการสร้างเขื่อนอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่หลายจุดในภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องสร้างเพิ่มเติม เนื่องจากอ่างเก็บนํ้าที่มีอยู่สามารถเก็บกักนํ้าได้เพียง 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจะสร้างได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงงบประมาณจำนวนมาก

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อจำกัดที่เรามี กรมชลประทานได้บรรจุแผนพัฒนาแหล่งนํ้าสำหรับพื้นที่ภาคอีสาน 2,774 โครงการ และคาดหวังว่าจากปี 2568-2580 จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 14.4 ล้านไร่ จาก 8.5 ล้านไร่ มีครอบครัวที่จะได้รับประโยชน์ถึง 8 ล้านครัวเรือน และจะสามารถเพิ่มความจุนํ้าได้อีก 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร และตนจะนำเรียนถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอการสนับสนุนสำหรับพื้นที่ภาคอีสาน และเชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าจนสำเร็จได้

“ถ้าเราร่วมมือกัน เชื่อว่าเราทำได้ ในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯรับผิดชอบดูแล เรื่องดิน เรื่องนํ้า เราจะทำอย่างเต็มที่ พร้อมจะจับมือกับทุกเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกับเรา ทำเพื่อพี่น้องเกษตรกรภาคอีสานให้มีรายได้สูงขึ้น” ศ.ดร.นฤมลกล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.