สนค.คาดเงินเฟ้อปี 68 ขยับ 0.8% จับตาค่าแรง-ค่าไฟ ตัวแปรใหม่
วันที่ 6 มกราคม นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์กรอบเงินเฟ้อ 0.3 – 1.3% และค่ากลาง 0.8 % ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยมีปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยว คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 2. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยครึ่งปีแรก2567
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย 1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG 2. ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา
ขณะที่ปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก และ 3. การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
ทั้งนี้ เงินเฟ้อ 0.8% คาดการณ์การขยายตัวของจีดีพี 2.3-3.3% ราคาน้ำมันดิบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 34.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมถึงมาตรการและโครงการภาครัฐที่ได้ออกมาแล้ว เช่น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม สนค.กำลังวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง และอัตราค่าไฟฟ้า เบื้องต้นเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2568 ที่ขยับแล้ว 2.9% จะยังไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างเป็นนัยะสำคัญ โดยเทียบปี 2567 ค่าแรงปรับเฉลี่ย 2.42% เงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.40%
“ แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมกราคมนี้ น่าจะสูงกว่า 1% และไตรมาสแรกสูงขึ้น 1.25% ผลจากราคาน้ำมัน ดีเซล ราคาเครื่องปรุงอาหารสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเงินเฟ้อจะแผ่วลงอาจต่ำกว่า 1% ในไตรมาส 2และ 3 ก่อนขยับเกิน 1% อีกครั้งในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลง สนค.ก็จะมีการทบทวนใหม่อีกครั้ง เช่น ค่าไฟฟ้า ดีเซล และมาตรการัฐใหม่ๆที่จะออกมา “ นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2567 เทียบกับปี 2566 สูงขึ้น 0.40% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ อันดับสองรองจากบรูไน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
แหล่งข่าวจาก สนค. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในระดับไม่สูงหรือต่ำกว่า 1% ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจไทยฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสด และพลังงาน) ยังขยายตัวได้สูงกว่า อยู่ 0.56% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปสูง 0.40 %