ใครจะคิดว่า "บอร์ดเกม" อีกหนึ่งกิจกรรมสันทนาการยอดฮิตของวัยรุ่นไทยจะถูกหยิบยกมาเป็น "สื่อสร้างสรรค์" สร้างภูมิคุ้มกัน ความตระหนัก และเสริมการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนไทยห่างไกลพิษภัย บุหรี่ไฟฟ้า
หากเอ่ยถึง "บุหรี่ไฟฟ้า" รับรู้กันดีว่ากำลังเป็นมหันตภัยร้ายที่คุกคามเด็กและเยาวชนอย่างมากโดยเฉพาะเยาวชนในภาคใต้ เมื่อพบผลสำรวจว่าพี่น้องชาวใต้นั้นมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศ
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) 20 โรงเรียน ใน 10 จังหวัดภาคใต้ จัดเวที "โตไปไม่สูบ" เวทีโชว์ แชร์ เด็กใต้สร้างสื่อนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนในภาคใต้เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่บุหรี่ไฟฟ้า
ฮาริส มาศชาย ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า โตไปไม่สูบ เป็นแคมเปญที่เครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) ได้ช่วยกันออกแบบกระบวนการสร้างกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยจะมี บอร์ดเกม โตไปไม่สูบ พัฒนาโดยกลุ่มไอเกลอนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ นำมาใช้รณรงค์เพื่อปกป้องเด็กไทยจากภัยอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเยาวชนให้เกิดการรวมกลุ่มการเล่นอิสระ และมีพื้นที่ในการพูดคุยสะท้อนปัญหา และหาทางออกจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า ได้นำไปใช้กับกลุ่มเยาวชนกว่า 2,000 คน พบว่าบอร์ดเกมช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยฝึกเข้าสังคม สื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญต่อเยาวชน ในการฝึกการปฏิเสธไม่เอาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายและแรงจูงใจ ฝึกการควบคุมอารมณ์และความเครียดเมื่อถูกกดดันจากตัวเกมหรือผู้เล่นคนอื่น และมีส่วนช่วยดึงให้เยาวชนลดการติดจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ หันมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ยังเล่าถึงผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดทุกรอบการสำรวจ โดยปี 2564 อยู่ที่ 22.4% สูงกว่าอัตราสูบทั้งประเทศ 17.4%
"ผลสำรวจดังกล่าวยังสอดคล้องกับสำรวจพฤติกรรมการ สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร สำรวจเยาวชน 40,164 คนทั่วประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 พบกลุ่มเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18.6% โดยมีความเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้า ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ 61.23% และบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% สะท้อนว่าเยาวชนยังขาดความรู้และความเข้าใจผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่ถูกต้อง เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งระบบหายใจ ระบบหลอดเลือดสมอง ระบบประสาทและสมอง อื่นๆ สสส. จึงต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้เด็ก เยาวชน ไม่ตกเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่" รุ่งอรุณ กล่าว
ชัยวุฒิ บุตรเหล่ ผู้จัดการโครงการป้องกันเด็กไทยไม่ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า PROTECT NEW GEN กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดคาราวานบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เพื่อปลุกไอเดียไม่ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า 23 พื้นที่ โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าร่วม 2,343 คน และได้ร่วมสนับสนุนโรงเรียนเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) 20 โรงเรียน ได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานและถอดบทเรียน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2567 ที่โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ผศ. ดร. พรไทย ศิริสาธิตกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า เวทีโชว์ แชร์ เด็กใต้สร้างสื่อนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้ามีความน่าสนใจในหลายมิติ โดยเฉพาะแกนนำเยาวชน นอกจากมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ยังสามารถสร้างภาวะผู้นำทางความคิดให้เกิดการต่อยอดและขยายผลกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงกลุ่มพี่เลี้ยงครูที่สร้างระบบในการร่วมจัดการจัดการความรู้ ร่วมสร้างนวัตกรรมต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้า และขยายผลไปยังห้องเรียนได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงกลไกของโรงเรียนที่นำไปสู่นโยบาย ทำให้การทำงานในทุกระดับของเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) ทั้ง 20 โรงเรียน ที่กระจายถึงเด็กมากกว่า 15,000 คน
สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดเวที Showcase นำเสนอผลงานเด่นสื่อสารลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ร่วมด้วยกิจกรรม Walk rally ผ่านการจัดนิทรรศการ และยังมี World Café แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และต่อยอดความรู้ นวัตกรรมลด บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อค้นหา Best Practice และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังลดปัจจัยเสี่ยง