การเลือกตั้ง “กรรมการ” สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ชุดใหม่ พร้อมเลือก “ประธาน” สทท. คนใหม่ ในวันที่ 14 มกราคม 2568 หลังจากที่คณะกรรมการชุดเดิมที่นำโดย “โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ได้หมดวาระลงไปเมื่อ 3 มกราคม 2568 ล่าสุดยังคงมีผู้เสนอตัวเป็น “ประธาน” จำนวน 4 คนเท่าเดิม
ประกอบด้วย 1.นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ รองประธาน สทท. และประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธนบุรี ตรัง (เดิมชื่อโรงพยาบาลตรังรวมแพทย์) 2.นายชัย อรุณานนท์ชัย นายกสมาคมการค้าพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ 3.นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ รองประธาน สทท. ดูแลคลัสเตอร์อันดามัน และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต และ 4.นายธเนศ วรศรัณย์ รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ สทท. และประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์นโยบายและแผนการบริหารสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หากมีโอกาสได้รับเลือกให้มาเป็น “ประธาน” ของผ็สมัครทั้ง 4 คน ไว้ดังนี้
“นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์” ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธนบุรี ตรัง (เดิมชื่อโรงพยาบาลตรังรวมแพทย์) อดีตรองประธาน สทท. บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การอาสาเข้ามาทำงานให้กับสภาท่องเที่ยวครั้งนี้ เพราะอยากให้สภาเป็นของทุกคนและเป็นที่พึ่งได้ สมาชิกต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและสง่างาม ยึดมั่นในหลักกฎหมาย ของบังคับ และ พ.ร.บ. เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาและมีส่วนร่วมในการบริหารสภา
นอกจากนี้จะเน้นสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่สมาชิก รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจการของสมาชิก และสาขาของสภาต้องเป็นผู้นำในด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดได้
“เราจะมาเปลี่ยนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นของทุกคนร่วมกัน สมาชิกทั้งใหม่และเก่าเท่าเทียมกัน 77 จังหวัดต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน และพร้อมจะเป็นหนึ่งร่วมกัน ผมพร้อมที่จะใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่นี้อุทิศให้กับการทำงานในครั้งนี้ ถ้ามีโอกาสได้รับการเสนอชื่อ ผมเชื่อมั่นในศักยภาพที่มีด้วยทีมงานที่ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง”
สำหรับนโยบายนั้น “นายแพทย์สมชัย” บอกว่า นอกจากรูปแบบการท่องเที่ยวทั่วไปแล้วจะโฟกัสการท่องเที่ยวในกลุ่ม “เมดิคัล” และ “เวลเนส” ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเทรนด์ขของการท่องเที่ยวทั่วโลกที่นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจเรื่องของการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ต่อคนต่อทริป และสามารถกระจายรายได้ไปยังทุกๆ กลุ่มอย่างแท้จริง
“นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพเป็นกลุ่มที่มาพักอยู่นาน ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องของการเพิ่มขึ้นของรายได้ท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สนับสนุนนักท่องเที่ยวกลุ่มทั่วไป มาเที่ยวและมากินสตรีตฟู้ดแล้วก็กลับ แต่อย่างขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยขยับไปสู่ระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น”
ที่สำคัญ ต้องแก้โจทย์เรื่องการกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่เมืองรองให้เพิ่มขึ้นให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวกว่า 80% ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักแค่ประมาณ 10 จังหวัดเท่านั้น แน่นอนว่าคือ ต้องผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในเมืองรองให้มากขึ้นด้วย
“ธเนศ วรศรัณย์” อดีตรองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ สทท. และประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าตนคลุกคลีและทำงานด้านการท่องเที่ยวมานานมาก ทั้งที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอร์ดนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ บอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอร์ดไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด) ฯลฯ
กล่าวสำหรับสภาท่องเที่ยวนั้น “ธเนศ” บอกว่า มีโอกาสได้ทำงานในสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกับบทบาทกรรมการสภาท่องเที่ยวฯ สนับสนุนการทำงานของประธานสภาท่องเที่ยวทุกคนมาโดยตลอด กระทั่งสมัยล่าสุดที่เพิ่งหมดวาระไปกับตำแหน่งรองประธาสภาท่องเที่ยวด้านยุทธศาสตร์
จากประสบการณ์ที่ยาวนานนี้ทำให้เชื่อว่าตนมีความพร้อมในการที่จะร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่องในอนาคต โดยตั้งคณะกรรมการ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนา มุ่งกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองน่าเที่ยว, ผู้ประกอบการรายเล็กและชุมชนต้องได้ประโยชน์, มีแหล่งเงินและเงินสนับสนุนการพัฒนา, สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานชีวภาพและวัฒนธรรม, พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ, พัฒนาคนทุกระดับเพื่อรองรับอนาคต และพัฒนา สทท.ให้เป็นที่รวมใจของคนท่องเที่ยว
2.ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด โดยมีเป้าหมายเพิ่มทั้งจำนวนคน รายได้ และวันพัก, จับคู่ตลาดต่างประเทศที่เหมาะสมกับแต่ละเมืองน่าเที่ยว, ส่งเสริมตลาด MICE และการเที่ยมข้ามภาค, การท่องเที่ยวทางน้ำ Cruise Yacht และในแม่น้ำลำคลอง, ให้คำแนะนำภาครัฐในการลงทุนที่เหมาะสม และสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ
3. ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะขับเคลื่อน Carbon Neutral Tourism, มีกลไกดูแลแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และ 4. ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผู้สูงอายุ คนพิการ และ LGBTQ+ และสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ
“ผมจะให้ความสำคัญการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ด้วยกลไกการทำงานใหม่ที่จับมือขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยไปด้วยกัน การทำงานต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถูกต้อง สร้างประโยชน์ให้คนท่องเที่ยวทุกคน และทำให้สภาท่องเที่ยวเป็นที่รวมใจและเป็นที่พึ่งของคนท่องเที่ยวทุกคน และเติบโตอย่างสง่างามและยั่งยืน” ธเนศย้ำ
ด้าน “ชัย อรุณานนท์ชัย” นายกสมาคมการค้าพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ รองประธานสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขตพื้นที่ภาคกลาง ( 18 จังหวัด) บอกว่า วางนโยบายขับเคลื่อน สทท.ไว้ 3 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. กระจายอำนาจหน้าที่การทำงานให้สมาชิกมีบทบาทอย่างทั่วถึง 2. มุ่งมั่นบริหารงาน สทท.อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และ 3. ยกระดับบทบาทของ สทท.ให้เป็นที่ยอมรับในทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือองค์กรด้านการท่องเที่ยวทุกหน่วยงาน และผลักดันงบประมาณ นำเสนอโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกมิติให้กระจายไปสู่ภูมิภาค และเชื่อมโยงสมาชิกทุกพื้นที่และสาขาอาชีพ โดยมุ่งมั่นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู้ความยั่งยืน
นอกจากนี้ จะเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้โอกาสนำเสนอแผนและนโยบายเข้า กรอ.จังหวัด รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาแพล็ตฟอร์มเพื่อเป็นเครื่องมือทำการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ และการตลาดในรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว
“ผมพร้อมทำงานเพื่อดูแลใส่ใจ สนับสนุนกิจการของสมาชิกทุกรายให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน โดยถือเอาประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สทท. เป็นสำคัญ” ชัยย้ำ
“วิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์” หรือ คุณแอ็ด ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ปัจจุบันเป็นรองประธาน สทท. ดูแลคลัสเตอร์อันดามัน บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ตนมีความพร้อมมากๆ ที่มาทำงานในตำแหน่งประธนสภาท่องเที่ยว การันตีด้วยอาชีพและประสบการณ์การทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวมามากกว่า 30 ปี
สำหรับวิสัยทัศน์นั้น ได้วางไว้นโยบายไว้ 5 พร้อม ได้แก่ 1. พร้อมประสานความร่วมมือ โดยผนึกกำลังสร้างเส้นทางท่องเที่ยวแห่งคุรภาพ 2. พร้อมกระจายโอกาส ไม่ให้ความสำเร็จจำกัดอยู่แค่บางพื้นที่ ต้องส่งต่อสู่ทุกเขตพื้นที่ 3. พร้อมพลักดันการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพที่เติบโตเคียงข้างกัน
4. พร้อมยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยสู่จุดหมายปลายทางที่โลกต้องจับตา และ 5. พร้อมเดินหน้าท่องเที่ยวไทย ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืนที่งดงามและเป็นหนึ่งเดียว