กรุงไทย มองจีดีพีไทยปี 68 โต 2.7% ต่ำกว่าศักยภาพ จับตา 5 ประเด็นท้าทาย
Pornchanok January 13, 2025 05:05 PM

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจปี 68 ขยายตัว 2.7% โตต่ำกว่าศักยภาพชี้ ห่วงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเผชิญความไม่แน่นอนสูง เหตุสงครามการค้า-เศรษฐกิจโตแผ่ว คาดจีดีพีโตได้ 2% จากครึ่งปีแรกโตกว่า 3% จับตา 5 ประเด็นความท้าทาย จุดพลิกเศรษฐกิจไทย

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ธนาคารประเมินจีดีพีขยายตัว 2.7% จากปี 2567 คาดว่าจะปิดตัวเลขอยู่ที่ 2.8% ซึ่งต้องรอตัวเลขทางการจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างไรก็ดี ตัวเลขขยายตัวในระดับ 2.7% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพพอสมควร

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2568 จะเป็นการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว 5.1% ตามตัวเลขการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แทนการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัว 3% ส่วนการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 39 ล้านคน ขยับจาก 35 ล้านคนในปีก่อน อย่างไรก็ดี แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ราว 39.9 ล้านคน

ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้ 2% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 4% ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งการนำเข้าสินค้าของต่างประเทศที่หลบความไม่แน่นอนทางการค้า รวมถึงการส่งออกตามการฟื้นตัวของวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ตัวเลขการส่งออกในระดับ 2% ถือว่าค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากในช่วงหลังการส่งออกเติบโตค่อนข้างสูง และยังไม่ได้ใส่ปัจจัยผลกระทบจากสงครามการค้า Trade War 2.0 หากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีจีน และจีนวิ่งหาตลาดใหม่ ส่งผลต่อการส่งออกของไทยในตลาดอาเซียนชะลอตัวลงได้

“ตัวเลขจีดีพี 2.7% เราใส่ปัจจัยด้าน Trade War 2.0 บ้างส่วน แต่ยังต้องดูทรัมป์หากมีการเข้าออฟฟิศและประกาศใช้นโยบายภาษีก็อาจจะเป็นตัวดิสรัปตัวเลขการเติบโตเพิ่มเติมได้

ดังนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะขยายตัวในระดับกว่า 3% และครึ่งหลังของปีจะขยายตัวเฉลี่ยกว่า 2% ทั้งนี้ มองว่าในช่วงครึ่งแรกเศรษฐกิจยังมีแรงส่ง (โมเมนตัม) จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไปได้ดี และการส่งออกยังเติบโตได้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีน่าเป็นห่วง ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องดูโมเมนตัมที่แผ่วลงภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น“

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน (RP) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งลงมาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทมีความผันผวนค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดตีความไม่สะเด็ดน้ำเรื่องนโยบายภาษีของทรัมป์ แต่หากดูทิศทางในช่วงครึ่งแรกนโยบายภาษียังไม่เข้ามา สหรัฐฯ มีการเร่งนำเข้าสินค้า ทำให้เศรษฐกิจดูดี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่เร่งปรับดอกเบี้ย ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ครึ่งหลังเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง จะเห็นค่าเงินบาทคงไม่ได้อ่อนค่ามาก

ดร.พชรพจน์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2568 นี้ เป็นปีแห่งจุดพลิกผันสำคัญ (Inflection point) ของเศรษฐกิจไทย โดยมีความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ ดังนี้

1.สงครามการค้ารอบใหม่ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง เสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุตสาหกรรม ที่อาจถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 40-60%

2.เศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ ถึง 48% ของจีดีพี ทำให้จำเป็นต้องเร่งผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบมากขึ้น เพื่อพลิกศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น

3.อุตสาหกรรมยานยนต์ภายใต้ Perfect Storm ที่รถยนต์สันดาปยากจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง โดยคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2568-69 อยู่ที่ 1.47-1.53 ล้านคัน/ปี ลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตกว่า 15% จากปัจจัยด้านกำลังซื้อครัวเรือนไทย กระแส EV และการแข่งขันด้านราคารุนแรง

4.พลิกโฉมการท่องเที่ยวด้วย Man-made Destination เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่และเพิ่มเม็ดเงินท่องเที่ยวให้สะพัดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวนต่างชาติ กลุ่ม Man-made ในไทย ปี 2568 จะอยู่ที่ราว 58,300 บาท/คน/ทริป ซึ่งสูงกว่าในกรณีนักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 19%

5.ปลดพันธนาการที่เหนื่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับสูง หนี้ครัวเรือนที่เมื่อรวมกับหนี้นอกระบบสูงถึง 104% ของ GDP ซึ่งต้องยกระดับรายได้ และ Safety Net ของครัวเรือนอย่างเป็นระบบ สอดรับกับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ก้าวทันกระแสโลกและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ อาทิ Regulatory Guillotine เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

“ในปี 68 เป็นจุดพลิกผัน หรือ Inflection Point ของเศรษฐกิจไทย ที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส โดยเราจะต้องปลดล็อกพันธการที่กดเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าศักภาพ โดยการดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ สร้างระบบค้ำประกันให้เกิดการเข้าถึงสินเชื่อ แก้ปัญหากลุ่มฐานราก ดึงดูดการลงทุนหนุนไทยเป็นศูนย์กลางลงทุน”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.