หุ้นร่วงทั่วโลก หลังรายงานตัวเลขตลาดงานสหรัฐออกมาแข็งแกร่งเกินคาด นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริกา (BofA) วิเคราะห์ว่าวงจรการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดสิ้นสุดแล้ว และตลาดอาจเปลี่ยนไปคาดการณ์กันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเมื่อไหร่
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานในช่วงค่ำวันที่ 13 มกราคม 2025 (เวลาไทย) ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 26 เดือน หลังจากรายงานตัวการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Federal Reserve System) จะลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่ในปีนี้
อีกทั้งมีปัจจัยเรื่องราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในวันที่ 13 มกราคมนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะมีสัญญาณว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซียจะลดลง เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นแล้ว 4% ในเดือนธันวาคม 2024 เพียงเดือนเดียว หลังจากอากาศหนาวเย็นลง
ในยุโรป หุ้นร่วงเป็นวันที่สองติดต่อกัน โดย STOXX 600 ซึ่งเป็นดัชนีรวมหุ้นใหญ่สุด 600 ตัวของยุโรปลดลง 0.9% และดัชนี DAX ของเยอรมนีลดลง 0.7% ส่วนดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษลดลงเพียง 0.4% โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งได้รับความสนใจอีกครั้งเนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมของสหราชอาณาจักรยังคงเพิ่มขึ้น
ในสหรัฐ S&P 500 Futures หรือดัชนีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า S&P 500 ลดลง 0.8% และ Nasdaq Futures ลดลง 1.2% บ่งชี้ว่าตลาดจะมีการขาดทุนเพิ่มเติมอีกในวันที่ 13 มกราคมนี้ หลังจากที่ร่วงลงเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม
ส่วนในเอเชีย วันหยุดของตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำให้การซื้อขายค่อนข้างเบาบาง CSI300 ดัชนีหุ้นบลูชิปของจีนลดลง 0.3%
สภาวะของตลาดหุ้นทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าเหล่าเทรดเดอร์ได้ปรับลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐลงเหลือเพียง 25 เบซิสพอยต์ (bps) หรือ 0.25% ในปี 2025 นี้ จากเดิมก่อนประกาศตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์ ตลาดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปีนี้ประมาณ 45 เบซิสพอยต์
อทิตยา ภาเว (Aditya Bhave) รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา (Bank of America: BofA) วิเคราะห์ว่า หลังจากเห็นรายงานการจ้างงานที่แข็งแกร่งมาก BofA คิดว่าวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายและมีความเสี่ยงขาขึ้น
จากก่อนหน้านี้ที่ตลาดถกเถียงกันว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ อทิตยากล่าวว่า นับจากนี้ การถกเถียงในตลาดอาจเปลี่ยนไปเป็นว่า “ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3% และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของตลาดสูงขึ้น
ด้านตลาดตราสารหนี้ มีการเทขายทั่วโลก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) สูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 4.79% และคาดว่ารายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 15 มกราคมนี้ อาจทำให้ตลาดเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ เมื่อพิจารณาว่านักลงทุนมองว่าเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วในปีนี้