พาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีด้านการเงินระดับเอเชียในฮ่องกง ซึ่งย้ำเน้นว่านโยบายเศรษฐกิจมหภาคจีนจะเปลี่ยนไปมุ่งเน้นการบริโภคมากขึ้น หลังจากเผชิญปัญหาด้านดีมานด์ในประเทศที่มีไม่พอ
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า จีนจะเปลี่ยนโฟกัสนโยบายมาเน้นการบริโภคมากขึ้น และละทิ้งการมุ่งเน้นการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียวอย่างในอดีต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เคยกำหนดเศรษฐกิจจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
“ลำดับความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควรเปลี่ยนจากการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นในอดีตเป็นการส่งเสริมทั้งการบริโภคและการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการบริโภคมากขึ้น” พาน กงเซิ่ง (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีเอเชียน ไฟแนนเชียล ฟอรัม (Asian Financial Forum) ในฮ่องกง เมื่อ 13 มกราคม
ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ พานปรากฏตัวบนเวทีนี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่แบงก์ชาติจีนออกแถลงการณ์เกี่ยวกับมาตรการใหม่เพื่อปกป้องเงินหยวน โดยดำเนินการหลังจากที่ค่าเงินหยวนร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดที่เป็นประวัติการณ์ หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้
ผู้ว่าแบงก์ชาติจีนขยายความจากครั้งก่อนๆบอกเพิ่มเติมว่า จีนจะพยายามเพิ่มรายได้ของประชาชน เพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับผู้บริโภค และปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยอ้างปัญหาดีมานด์ภายในประเทศที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะดีมานด์การบริโภค นอกเหนือจากปัญหาภายในประเทศลำดับต้นอื่นๆแล้ว
แม้ว่าจีนน่าจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างเป็นทางการที่ประมาณ 5% สำหรับปี 2024 แต่ความกังวลยังคงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในปีนี้และปีต่อๆ ไป ทั้งมาจากปัจจัยภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นของสหรัฐ ซึ่งทรัมป์ขู่เอาไว้นั้น จะไปลดแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่ตกต่ำ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจที่ซบเซา
ในการประชุมนโยบายประจำปีเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ให้คำมั่นแล้วว่าจะกระตุ้นการบริโภคเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดในปีนี้ นับเป็นการประกาศครั้งที่สองในรอบอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ
เมื่อ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา แถลงการณ์กระทรวงการคลังของจีนระบุว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเน้นที่การกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในปีหน้า หลังจากการประชุมระดับชาติสองวันของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับแผนงานคลังในปี 2025
แต่จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่จีนทำอย่างที่พูดได้อย่างจำกัด โดยมีแผนที่จะขยายโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่ให้ส่วนลดในการซื้อเครื่องใช้ในบ้านและรถยนต์ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการจ่ายเงินบำนาญและเงินอุดหนุนประกันสุขภาพ ซึ่งน่าจะเป็นการพยายามแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการยกเครื่องปฏิรูปไปเลย โดยใช้นโยบายแบบผสมผสานกันไป ซึ่งหมายถึงยังคงสนับสนุนการลงทุนอยู่
ในอดีต จีนเคยพึ่งพาการใช้จ่ายด้านทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตเพื่อรองรับเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผลที่ตามมาคือหนี้สะสม ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ และความไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าที่เลวร้ายลง ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานำไปสู่การลงทุนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นโรงหลอมทองแดง ผู้ผลิตเหล็ก การผลิตแผงโซล่าร์มากเกินจนบริษัทผลิตแผงโซล่าร์ต้องเข้าโครงการวินัยจำกัดโควตาการผลิต เป็นต้น
การใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งรวมถึงสินค้าและบริการที่รัฐบาลจัดหาให้ประชาชน คิดเป็นเพียงประมาณ 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งต่ำอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งมีการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนระดับ 60%-80%