การแพทย์ทางไกลไร้สาย ในกลุ่มคนไข้ที่เข้าถึงบริการยาก โรงพยาบาลพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด
GH News January 13, 2025 05:06 PM

แม้เริ่มต้นจะติดขัดไปบ้างสำหรับโครงการการพัฒนาระบบ Telemedicine ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ของเครือข่ายสุขภาพอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ของโรงพยาบาลพนมไพร ภายใต้การสนับสนุนทุนของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เนื่องจากเริ่มต้นโครงการในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด รวมถึงเป็นช่วงที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลย้ายสังกัดจากกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำให้การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงแรกเป็นไปด้วยความไม่สะดวก

แต่หลังจากประสานงานกับทุกฝ่ายสำเร็จ และเปิดใช้งานก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ให้บริการ และผู้ป่วยเกินความคาดหมาย โดยกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมายเป็นคนไข้ที่เข้าถึงบริการยาก ได้แก่ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่านระบบ telemedicine ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน (รพ.สต.) ผ่านเครือข่ายสื่อสาร 4G และ 5G ระหว่างแพทย์กับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย ช่วยลดความแออัดในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลพนมไพร ผู้ป่วยเดินทางใกล้ขึ้น ไม่เสียเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ในส่วนของเจ้าหน้าที่คนทำงาน เมื่อโครงการได้ดำเนินการขึ้นจึงเป็นตัวเชื่อมประสานการทำงานระหว่างโรงพยาบาลกับ รพ.สต. โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลคนไข้ในอำเภอพนมไพรร่วมกัน แบบไร้รอยต่อที่ต่อเนื่องจากโครงการ telemedicine นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผนโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนเป็นโครงการต่อเนื่องจาก กทปส. ในการเสริมความรู้ให้กับคนไข้ที่ได้รับบริการแล้ว ผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย AR (Augmented Reality การนำวัตถุเสมือนมาใช้กับโลกแห่งความเป็นจริง) หรือ VR (Virtual Reality เทคโนโลยีเสมือนที่ผสานระหว่างสภาพแวดล้อมจริง ณ ขณะนั้นเข้ากับวัตถุที่จำลองขึ้นมา) เพื่อให้คนไข้สามารถดูแลตัวเองต่อได้อย่างถูกต้องหลังเข้ารับการรักษาผ่านระบบ telemedicine ช่วยส่งเสริมให้คนไข้สามารถดูแลตนได้ดีเพิ่มมากขึ้น จากการเข้าถึงชุดข้อมูลสุขภาพ เช่น คนไข้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี สามารถเข้าถึงชุดข้อมูลให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการให้ดูวิดิโอหรือเลือกว่าจะต้องกินข้าวแบบไหน การออกกำลังกายแบบใดจึงเหมาะสมกับแต่ละคน เป็นต้น

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.