กยท.ลุยปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ หยิบ 5 โครงการวิจัยสุดว้าว! พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
GH News January 19, 2025 10:07 PM

วันที่ 18 ม.ค.68 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยสถาบันวิจัยยาง (สวย.) เปิดเวทีโชว์ของ ปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ ดัน 5 โครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือก ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา ชูเทคโนโลยี IOT หวังยกระดับอุตสาหกรรมยางในอนาคต ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิซ คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี 

นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหาร กล่าวขณะเป็นประธานเปิดกิจกรรมประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบในโครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพาราว่า กยท. พร้อมผลักดันนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านยางพารา เวทีนี้จะเป็นการจุดประกายให้นักคิด นักวิจัย ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ มีโอกาสได้นำเสนอผลงานที่คิดค้นเป็นต้นแบบ (Prototype) ซึ่ง กยท. จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาชิ้นงานต้นแบบนั้น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหา ความต้องการ และการนำไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง เป็นการยกระดับและพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ผ่านการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทยแล้ว ยังสามารถขยายผลไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย

“ฝากถึงนวัตกรรุ่นใหม่ ให้มีความพยายาม มุ่งมั่นในการคิดค้นงานวิจัย นำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำเอานวัตกรรมเหล่านี้ไปพัฒนาวงการยางพารา อันจะส่งผลไปสู่ความก้าวหน้าทั้งด้านการทำเกษตร จนถึงการแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศต่อไป” รองผู้ว่าการด้านบริหาร กล่าวทิ้งท้าย

ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา ที่ได้มีการประกวดข้อเสนอโครงการวิจัยในหัวข้อ “IOT Smart Natural Rubber Hackathon” และมีทีมที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 5 ทีม ได้เข้ารอบสู่การประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบผลงานวิจัยในครั้งนี้ โดย กยท. มุ่งหวังต่อยอดโครงการวิจัยให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลงานต้นแบบที่สามารถนำไปทดลองและต่อยอดได้จริง สามารถนำเทคโนโลยี IOT (Internet Of Things) เข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การผลิตไปจนถึงการแปรรูปยางพารา โดยหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางในอนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราสู่ยุค 4.0

​​​​​​​ ​​​​​​​

สำหรับผลการตัดสิน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Friendster ในผลงาน “RD Snap Application แพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนในการใช้ AI เพื่อการพยากรณ์โรคใบร่วงในยางพารา” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Robodis กับผลงาน “Qualtex Vault : นวัตกรรม IOT ถังเก็บรักษาน้ำยางเพื่อรักษาคุณภาพ”  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Robomaniac 2 กับผลงานนวัตกรรม “หุ่นยนต์เก็บน้ำยาง” รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม Kuriot เจ้าของผลงาน “ระบบจำแนกเกรดยางแผ่นรมควัน โดยใช้ IOT เป็นเครื่องมือร่วมกับ Image Processing” และทีม HW Surviver escape from web lab เจ้าของผลงาน “พาราพยากรณ์ (ParaPredict)”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.