ผ่า…นโยบาย ทรัมป์ ไม่แคร์โลกร้อน เขย่าหุ้นยั่งยืนตลาดทุนไทย!!
GH News January 24, 2025 09:48 AM

ผ่า… นโยบายทรัมป์ไม่แคร์โลกร้อน เขย่าหุ้นยั่งยืนตลาดทุนไทย!!

พลันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้ลงนามคำสั่ง 10 เรื่อง จนทั่วทั้งโลกตั้งข้อสังเกตว่านี่คือ 10 คำสั่งเขย่าโลกเลยทีเดียว

10 คำสั่งทรัมป์เขย่าโลก สะเทือนไทย ประกอบด้วย

1.ถอนตัวจากความตกลงกรุงปารีสแก้ปัญหาโลกร้อน เพิ่มผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล
2.ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
3.ยึดกรีนแลนด์-คลองปานามา
4.รื้อโครงสร้างศก. ขึ้นภาษีสินค้าแคนาดา-เม็กซิโก 25% มีผล 1 ก.พ.
5.อภัยโทษผู้ก่อจลาจลบุกคองเกรสกว่า 1,500 คน
6.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินชายแดนใต้ เนรเทศผู้อพยพผิดกม. ยกเลิกให้สัญญาติโดยกำเนิด
7.ขยายเวลาบังคับใช้กม.แบน TikTok 75 วัน
8.ยกเลิกรับ LGBTQ+ ในหน่วยงานรบ.กลาง – รับคนทำงานตามเพศสภาพแรกเกิด
9.ยกเลิกนโยบายคุมปัญญาประดิษฐ์-รถยนต์ไฟฟ้า
10.ประกาศส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร

ที่ดูจะเกี่ยวพันกับประเทศไทยมากที่สุด คือ การถอนตัวจากความตกลงกรุงปารีสแก้ปัญหาโลกร้อน เพิ่มผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และการรื้อโครงสร้างศก. ขึ้นภาษีสินค้าแคนาดา-เม็กซิโก 25% มีผล 1 ก.พ.

มติชนออนไลน์ สัมภาษณ์ นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ถึงมุมมองผลกระทบต่อนโยบายทรัมป์ ว่า จากการประเมินนโยบายล็อกแรกของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการนั้น มีข้อที่สร้างความกังวลในผลกระทบที่จะตามมาของตลาดทุน ได้แก่ การถอนตัวจากความตกลงกรุงปารีสแก้ปัญหาโลกร้อน เพิ่มผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล

เป็นการถอนตัวจากข้อตกลงกรุงปารีสอีกครั้งในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีการส่งจดหมายถึงสหประชาชาติ แจ้งความตั้งใจดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

ทรัมป์ ระบุ ข้อตกลงปารีสเป็นหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่สะท้อนถึงค่านิยมของสหรัฐ และนำเงินภาษีของประชาชนสหรัฐไปใช้กับประเทศที่ไม่ต้องการหรือสมควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในประเทศนั้น เบื้องต้นประเมินว่า เรื่องนี้ไม่น่าส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่ในเชิงบรรยากาศก็อาจมีความกังวลออกมาบ้างเล็กน้อย

นายวิจิตร กล่าวว่า สำหรับหน้าหุ้นของไทยในเชิงของความยั่งยืน หรืออีเอสจี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทุกภาคส่วนยังคงเน้นการดูแลด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เดินหน้าในการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

โดยประเทศไทยพยายามเร่งให้บจ.ไทยเน้นเรื่องอีเอสจีในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในอนาคตหากบจ.ให้ความสำคัญกับอีเอสจี จะเป็นมุมมองที่ดีขึ้น บริษัทต่างๆ จะมีคุณภาพมากขึ้น แต่ต้องประเมินเชิงการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกัน ซึ่งนักวิเคราะห์ก็พยายามใส่ประเด็นอีเอสจีเข้าไปในผลประกอบการของแต่ละบริษัทเพิ่มเติม อาทิ หากรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น จะสะท้อนผลตอบแทนที่ดีมากกว่าบริษัทอื่นในกลุ่มเดียวกัน

“ประเทศไทยมีการออกกองทุนไทยแลนด์อีเอสจีฟันด์ ออกมาเพื่อช่วยดันดัชนีหุ้นไทยให้มีแรงซื้อผ่านเม็ดเงินใหม่เข้ามามากขึ้น ซึ่งบริษัทที่อยู่ในกองทุนดังกล่าว เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแคปในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก ผลดำเนินงานจึงไม่ได้แตกต่างจากภาพรวมตลาดในบริษัทที่มีขนาดใหญ่สุด 50 หรือ 100 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทย ที่ปรับฐานลงมาหนักมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดหุ้นมีการปรับลงมาเช่นกัน จึงลดลงตามตลาดรวม” นายวิจิตรกล่าว

นายวิจิตร กล่าวว่า ประเมินนโยบายเบื้องต้นของโดนัลด์ ทรัมป์ มีทั้งบวกและลบ ซึ่งมาตรการด้านภาษีเป็นเรื่องที่มีความกังวลมากที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการด้านภาษีออกมา ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นตอบรับในเชิงบวก แต่เอาเข้าจริงๆ แรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นไทยก็ต้องมาจากมาตรการการตั้งกำแพงภาษีสินค้าของสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยไปด้วย

เมื่อยังไม่มีอะไรออกมา หุ้นจึงตอบรับผ่านการปรับตัวขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหุ้นไทยปรับลดลงเยอะมากด้วยในช่วงที่ผ่านมา เมื่อทรัมป์ไม่ได้มีอะไรรุนแรงออกมา หุ้นไทยจึงมีจังหวะในการตอบรับเชิงบวกขึ้นได้ ส่วนจะบวกไปได้ไกลมากน้อยเท่าใดนั้น ต้องอาศัยแรงบวกในประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตมากขึ้นด้วย

“ระดับดัชนีที่จะเป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ คือ 1,400 จุด หากไม่ทะลุ นักลงทุนก็จะไม่กลับเข้ามา เพราะยังไม่มีความเชื่อมั่น ลงทุนแล้วก็อาจเจ็บตัวได้” นายวิจิตรกล่าว

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงอีเอสจี ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ทำให้ธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน

โดย SET ESG Ratings คือ การให้คะแนน (Ratings) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้นจากการประเมินผลการดำเนินงานด้านอีเอสจีของบริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านอีเอสจีของแต่ละบริษัท

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้จัดทำดัชนีหุ้นอีเอสจี ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมิน SET ESG Ratings โดยมีขนาดและสภาพคล่องตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของ Raters และ Index Providers ชั้นนำทั่วโลกที่มีการประเมินและคัดเลือกหุ้นเด่นด้านอีเอสจี รวมถึงพัฒนาดัชนีด้านอีเอสจี เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับนักลงทุน

ปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ซึ่งเป็นการประกาศผลประเมินในรูปแบบเรตติ้งเป็นปีที่สอง โดยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings 228 บริษัท แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญในการเปิดเผยข้อมูลด้านอีเอสจี อาทิ ข้อมูลการจัดการความเสี่ยงด้านอีเอสจี นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานต่อพนักงาน ชุมชน และสังคมผ่านกระบวนการทางธุรกิจ เป็นต้น

โดยบริษัทที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AAA มีจำนวนทั้งสิ้น 56 บริษัท, บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AA มีจำนวนทั้งสิ้น 80 บริษัท, บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ A มีจำนวนทั้งสิ้น 71 บริษัท, บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ BBB มีจำนวนทั้งสิ้น 21 บริษัท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.