ฆาตกรเงียบ มลพิษคร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีกว่า 100 คนต่อวัน
GH News February 06, 2025 07:12 PM

ฆาตกรเงียบ มลพิษคร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีกว่า 100 คนต่อวัน ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นอันตราย ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดและเกิดความกังวลด้านสุขภาพเป็นวงกว้าง การวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟเผยให้เห็นถึงผลกระทบอันเลวร้ายของมลพิษทางอากาศต่อเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมักรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หรือตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนเมษายน โดยมีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 100 คนในแต่ละวัน

การวิเคราะห์เผยให้เห็นว่าเด็กทุกคนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก หรือประมาณ 500 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีความเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศในครัวเรือนจากการใช้เชื้อเพลิงแข็งในการหุงต้มและให้ความร้อน

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีเด็ก 325 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยต่อปีสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 5 เท่า และเด็ก 373 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 91 หรือประมาณ 453 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มลพิษจากโอโซนเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

ในประเทศที่มีระดับฝุ่น PM2.5 สูงสุด มักเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงชีวมวล และของเสียทางการเกษตร ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเท่านั้น แต่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

จูน คุนูกิ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “ทุกลมหายใจคือชีวิต แต่สำหรับเด็กจำนวนมาก ลมหายใจอาจนำมาซึ่งอันตราย ในช่วงเวลาที่ร่างกายและสมองของเด็กกำลังพัฒนา อากาศที่พวกเขาหายใจเข้าไปกลับเต็มไปด้วยมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำลายปอด และบั่นทอนพัฒนาการทางสติปัญญา”

เกือบ 1 ใน 4 ของเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ โดยมลพิษทางอากาศสามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำ เมื่อเติบโตขึ้น เด็กยังมีโอกาสเป็นโรคหอบหืด ปอดถูกทำลาย และมีพัฒนาการล่าช้า  ในขณะเดียวกัน เด็กจากครอบครัวยากจนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานหรือทางหลวง ซึ่งมีระดับมลพิษสูง ยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายนี้มากขึ้น นอกจากนี้ การสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานยังเพิ่มโอกาสเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและอนาคตของเด็กในระยะยาว

มลพิษทางอากาศไม่ได้กระทบต่อสุขภาพของเด็กเท่านั้น แต่ยังเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุขที่มีภาระหนักอยู่แล้ว เพิ่มค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และศักยภาพของเด็ก การขาดเรียนเนื่องจากการเจ็บป่วย การพัฒนาสมองที่ไม่เต็มที่ และความเสี่ยงต่อการปิดโรงเรียนล้วนจำกัดศักยภาพของเด็ก ในขณะที่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรที่เจ็บป่วยอาจต้องสูญเสียรายได้

ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรง โดยธนาคารโลกประมาณการว่าในปี 2562 มลพิษจากฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและความเจ็บป่วย คิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกถึงร้อยละ 9.3 ของ GDP หรือมากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคสาธารณสุข ผู้ปกครอง และนักการศึกษา ลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อเด็กในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะในด้านต่อไปนี้:

  • รัฐบาล ต้องเป็นผู้นำในการเสริมสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก
  • ภาคธุรกิจ ควรนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ ลดการปล่อยมลพิษ และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็กเป็นลำดับแรก
  • ภาคสาธารณสุข ควรดำเนินมาตรการเพื่อปรับปรุงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  • ผู้ปกครองและนักการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น และส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ยูนิเซฟกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคธุรกิจ ระบบสาธารณสุข และชุมชนทั่วเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบที่ร้ายแรงของมลพิษทางอากาศ โดยมีโครงการสำคัญดังต่อไปนี้:

  • ผลักดันนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกที่สะอาดและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก
  • ดำเนินโครงการลดมลพิษทางอากาศในครัวเรือน เช่น ระบบระบายอากาศแบบปล่องควันและระบบทำความร้อนที่สะอาดขึ้น
  • ปรับปรุงการติดตามคุณภาพอากาศและการรายงานผล ด้วยโครงการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดมลพิษที่มีต้นทุนต่ำ
  • เสริมสร้างระบบสาธารณสุข เพื่อรับมือกับโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ และลงทุนในระบบจัดการขยะทางการแพทย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ทำงานร่วมกับชุมชนและส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในฐานะนักรณรงค์เพื่ออากาศสะอาด โดยช่วยสร้างความตระหนัก ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และผลักดันนโยบายที่เข้มแข็งขึ้น

“การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะช่วยยกระดับสุขภาพ การศึกษา และคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมหาศาล และจะส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม” คุนุงิเน้นย้ำ “เรามีแนวทางแก้ไขอยู่แล้ว และอนาคตร่วมกันของเราขึ้นอยู่กับการนำแนวทางเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.