เตียนไปทั้งป่า เจออีกทุนจีนรุกที่ปลูกทุเรียน คราวนี้โผล่ฉะเชิงเทรา
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กรรมาธิการฯได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านพื้นที่ อ.เขาตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม และป่าสียัด โดยเข้าไปปลูกทุเรียนพื้นที่ ประมาณ 600 ไร่ เบื้องต้น หน่วยป้องกันและรักษาป่าหนองคอก กรมป่าไม้ เข้าไปตรวจยึดและ ปิดป้ายประกาศแล้ว โดยเบื้องต้น พบว่า มีความผิดตามมาตรา 14 ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 54 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพื้นที่ปลูกทุเรียนพบอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่ง และบางส่วนพบในที่ดินที่กรมป่าไม้ อนุญาตให้จังหวัดมาจัดนโยบายที่ดิน (คทช.)
นายชีวะภาพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นจากเว็บไซต์ ของบริษัทที่เข้าดำเนินการเรื่องนี้ เป็นกลุ่มทุนจีน บริษัทหนึ่ง ซึ่งมีการระบุด้วยว่า ได้ลงมือทำสวนทุเรียนในประเทศไทย 5,335 ไร่ ในประเทศมาเลเซีย 339 ไร่ โดยในพื้นที่ มีการเตรียมดิน เตรียมระบบน้ำ และระบบไฟฟ้าเพื่อปลูกทุเรียนเอาไว้เกือบสมบูรณ์แบบแล้ว
“พื้นที่นี้ ค่อนข้างเห็นชัดกว่าพื้นที่อื่น เรื่องของนายทุนที่มาครอบครองและปลูกทุเรียน ตรวจสอบจากเว็บไซต์ แต่ตอนนี้เขาปิดหนีไปแล้ว แต่ทางเราแคปบางส่วนเอาไว้ได้”นายชีวะภาพ กล่าว
นายธีรวัฒน์ อ่อนสำลี ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี กล่าวว่า พื้นที่ ที่มีการปลูกทุเรียนนั้น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม และป่าสียัด แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่ ที่มีร่องรอยการทำกินตามมติ ครม.30 มิถุนายน 2541 และ 2. พื้นที่เหล่านี้ บางส่วน ถูกจัดสรรให้เป็นที่ทำกินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.)ไปแล้ว และ 3.เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการสำรวจครอบครอง เพื่อจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎร
“โดยพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ มีการปลูกทุเรียนไปแล้ว อายุไม้ของทุเรียนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี หาก มีการเอาทุเรียนโตลงไปปลูก แต่คาดว่าน่าจะเอาลงดินได้ประมาณปีเศษ ส่วนพื้นที่ ที่กรมป่าไม้ไปตรวจยึดนั้น จำนวน 3 แปลง 164 ไร่ เป็นพื้นที่ ที่กรมป่าไม้ยังไม่อนุญาตให้คทช.เข้าไปดำเนินการ หรือเป็นพื้นที่ตามมติครม.30 มิถุนายน 2541″นายธีรวัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่า แล้ว บริษัทจีน มาเกี่ยวข้องอะไรกับการปลูกทุเรียนครั้งนี้ นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า ในพื้นที่ดังกล่าว มีป้ายชื่อ ปักเอาไว้อยู่ จึงมีการอนุมานว่าบริษัทดังกล่าว เป็นเจ้าของสวนทุเรียนที่ปลูกอยู่ อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ได้ตรวจยึดพื้นที่ดังกล่าวเอาไว้หมดแล้ว และจะมีการดำเนินผู้ที่เข้าบุกรุกพื้นที่ตัวจริงต่อไป