ลุยต่อเนื่อง! เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World เครือซีพี ลงพื้นที่อมก๋อย ร่วมอาสาดับไฟป่า ทำแนวกันไฟ ฝ่าวิกฤติฝุ่นควัน
GH News February 25, 2025 07:10 PM

เยาวชนจาก One Young World เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ภายใต้โครงการ Young Transformative Leaders  โดย นางสาวภัทราภรณ์ พลอยวิเลิศ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ นางสาวพาณิภัค หล่อวณิชย์ จาก บมจ.ซีพี ออลล์ ลงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เดินหน้าภารกิจ “#Fightหมอกควัน พลังคนรุ่นใหม่ สร้างอากาศสะอาด เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และชุมชนเพื่อลดไฟป่า “อมก๋อยโมเดล” ด้วยการร่วมสร้างแนวกันไฟ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงหน่วยป้องกันรักษาป่าที่เชียงใหม่ 28 (อมก๋อย) กรมป่าไม้ และร่วมพิธีมอบกองทุนสนับสนุนอาสาสมัครดับไฟป่า พร้อมอุปกรณ์ป้องกันและควบคุมไฟป่า ตลอดจนเปิดตัวโครงการป่าปลอดเผา อ.อมก๋อย โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน ในการนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World ทีม #Fightหมอกควันฯ ได้ร่วมนำเสนอโครงการในงานดังกล่าวด้วย

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหาการเผาจะแก้โดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่มีวันสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของเกษตรกร ต้องมุ่งเน้นกระบวนการปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เผา และสร้างความมั่นใจในปลายทางที่เกษตรกรเปลี่ยนเป็นพืชที่ไม่เผา จะมีตลาดขายอย่างยั่งยืน ความร่วมมือจึงจะเกิด พื้นที่ทางการเกษตรที่เคยเผาจะลดลง วันนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ทำเรื่องนี้ และนำผลสำเร็จมาต่อยอดขยายไปอีกหลายพื้นที่ในเชียงใหม่  เพื่อเป้าหมายสังคมแห่งการปลอดการเผา 

“ในส่วนของเยาวชนวันนี้เห็นปัญหา เขากล้าพูด ปัญหาเรื่องการเผาและมลพิษเรื่องฝุ่น เป็นปัญหาระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน เป็นเรื่องหลักสำคัญที่เยาวชนควรจะออกมาพูด ต้องขอบคุณเยาวชนที่กล้าออกมาพูด ออกมารณรงค์ในเรื่องนี้ เราไม่ได้ต้องการคนผิด แต่เราต้องการวันที่เราหยุดเผากันทุกคน แล้วเราจะมีสังคมที่น่าอยู่ อากาศที่ดีต่อสุขภาพทำให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง” นายนิรัตน์กล่าว

นางสาวภัทราภรณ์ พลอยวิเลิศ เยาวชนจาก One Young World เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า อมก๋อยเป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางชาวบ้านและอำเภอมีการต่อยอดโครงการป่าปลอดเผา คือการนำเชื้อเพลิงออกจากป่า มาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อนำกลับไปในแปลงพืชผักในสวนของชาวบ้านอีกที ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพิ่มมากขึ้น นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี

“ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราสามารถมาร่วมเป็นกระบอกเสียง กระจายความดีและการสร้างการตระหนักรู้ให้กับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็สามารถจะมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนบริจาคผ่านกองทุนต่างๆ เพื่อซื้ออุปกรณ์ให้กับพี่ๆ ทีมอาสาพิทักษ์ป่า เพื่อดับไฟและทำแนวกันไฟ รวมไปถึงการสนับสนุนมูลนิธิที่ทำเรื่องการป้องกันไฟป่า และทุกคนสามารถมาร่วมกดไลค์ กดแชร์กิจกรรมดีๆ เพื่อจะบอกต่อกันทางสังคมออนไลน์ ซึ่งคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญในการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันได้” นางสาวภัทราภรณ์กล่าว

ขณะที่นายพะเยาว์ หางาม พนักงานพิทักษ์ป่า สถานีควบคุมไฟป่าอมก๋อย กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ปีนี้มีใบไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงล่วงหล่นทับถมในพื้นที่ป่าค่อนข้างมาก  พื้นที่มีลักษณะแห้งแล้ง ทำให้ไฟป่าค่อนข้างที่จะเกิดง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีหมู่บ้านเครือข่ายเข้ามาช่วยร่วมกับพนักงานอาสาดับไฟ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ สำหรับแนวกันไฟที่มาร่วมกันทำในวันนี้ จะช่วยป้องกันพื้นที่ป่าที่เราต้องการอนุรักษ์ไว้ โดยเราต้องสำรวจ และกำหนดเป้าหมายที่จะทำแนวกันไฟ โดยต้องรู้ว่าจุดไหนที่มีเชื้อเพลิงเยอะ เป็นป่าที่สมบูรณ์ และต้องการจะปกป้องไว้ พร้อมประเมินสถานการณ์ และส่งทีมเข้าไปทำแนวกันไฟร่วมกับชาวบ้านและอาสาสมัคร ตรงนี้เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในพื้นที่

“เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาตระหนักถึงปัญหาหมอกควันไฟป่ารวมถึงมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้จะเป็นกำลังสำคัญ ถ้าเยาวชนมีความสนใจในเรื่องดับไฟหรือการอนุรักษ์ป่าจะยิ่งทำให้ทีมอาสาพิทักษ์ป่าทำงานง่ายขึ้น เพราะเรามองถึงการส่งต่อรุ่นต่อรุ่น เพราะว่าเยาวชนที่มีความรู้ในการป้องกันไฟป่าหรือการทำแนวกันไฟ เขาก็จะต้องมีความตระหนัก ว่าไฟป่ามันมีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตเขา รวมถึงผู้คนรอบข้าง พร้อมขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหาในมุมมองใหม่ๆ ด้วยพลังคนรุ่นใหม่ในวงกว้างมากขึ้น” นายพะเยาว์ กล่าว

สำหรับเยาวชน One Young World จากเครือซีพี ได้ดำเนินโครงการ “#Fightหมอกควัน พลังคนรุ่นใหม่ สร้างอากาศสะอาด เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ซึ่งมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้ามาสู้กับปัญหาหมอกควัน เริ่มตั้งแต่การรณรงค์หยุดเผาทั้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า สนับสนุนองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการเรื่องของการเผา รวมถึงรณรงค์ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับในภาคเอกชน ทำให้วัตถุดิบต่างๆ จะต้องปลอดการเผา  สนับสนุนสินค้าที่ปลอดเผาหรือสินค้ายั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชิญทุกคนมามีส่วนร่วมด้วยการระดมทุนสำหรับมูลนิธิที่มุ่งเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

     

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.