รอง ผบ.ทบ. ต้อนรับ ผบ.กกล.ทบ.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) สานสัมพันธ์ความร่วมมือทางทหาร เสริมความมั่นคงในภูมิภาค
GH News February 25, 2025 07:10 PM

รอง ผบ.ทบ. ต้อนรับ ผบ.กกล.ทบ.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) สานสัมพันธ์ความร่วมมือทางทหาร เสริมความมั่นคงในภูมิภาค

วันนี้ (25 ก.พ. 68) ณ ห้องรับรอง จปร. ชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ. ณัฐวุฒิ นาคะนคร รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ พล.อ. โรนัลด์ พี. คลาร์ค (GEN Ronald P. Clark) ผู้บัญชาการกองกำลังทหารบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ในฐานะ ผบ.กกล.ทบ.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกร่วมผสม รหัส Cobra Gold 2025 และแนะนำตัวอย่างเป็นทางการหลังเข้ารับตำแหน่ง เมื่อ พ.ย. 67 ที่ผ่านมา 

ในโอกาสนี้ รองผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวถึงยินดีต้อนรับ ผบ.กกล.ทบ.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ที่มาเยือนกองบัญชาการทหารบกครั้งแรก ในฐานะ ผบ.กกล.ทบ.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก และได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างกองทัพบกและกองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการฝึกร่วม/ผสม รหัส Cobra Gold และการฝึกผสม รหัส Hanuman Guardian ที่มีการฝึกร่วมกันอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ ผู้บังคับบัญชาทั้งสองท่านได้ร่วมหารือข้อราชการต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ การประชุม Indo – Pacific Motorized Forum (IPMF) ห้วงวันที่ 26 - 27 ก.พ. 68 ณ กรุงเทพฯ และกรมทหารราบที่ 112 ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี โดยในปีนี้กองทัพบกเป็นเจ้าภาพจัดการประขุมร่วมกับทางสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก

ซึ่งการประชุม IPMF นี้ เป็นกิจกรรมที่กองทัพบกไทย และกองทัพบกมิตรประเทศ ร่วมประชุมหารือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยยานเกราะ นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และแนวทางการรับมือของฝ่ายความมั่นคง อาทิ ประเด็น การลักลอบการค้ายาเสพติด scammer การใช้อากาศยานไร้คนขับทางพลเรือน และระบบการต่อต้านอากาศไร้คนขับ (Counter - Unmanned Ariel System : C-UAS) โดยได้มีการหารือถึงแนวทางการร่วมกันพัฒนากองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถ และมีความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ความท้าทายความมั่นคงไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

ทั้งนี้ กองทัพบกและกองทัพสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ผ่านความร่วมมือทางทหาร ทั้งการฝึกร่วม/ผสม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถหน่วยยานเกราะล้อยานแบบ Stryker การบูรณาการระบบการต่อต้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (C-UAS) และความร่วมมือด้านไซเบอร์ เป็นต้น 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.