ศธ.จับมือ ทรู คอร์ปอเรชั่น พัฒนาการศึกษา นำร่อง ‘อยุธยา’ ต้นแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา
GH News March 21, 2025 06:41 PM

ศธ.จับมือ ทรู คอร์ปอเรชั่น พัฒนาการศึกษา นำร่อง ‘อยุธยา’ ต้นแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่หอประชุมโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ โรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จำนวน 32 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) พระนครศรีอยธยา 16 แห่ง และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)พระนครศรีอยุธยา เขต 1 จำนวน 9 แห่ง และ เขต 2 จำนวน 7 แห่ง  โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คณะครู และผู้บริหาร เข้าร่วม

โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ความร่วมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเป็นจังหวัดนำร่องสร้างเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา เนื่องจากมีเครือข่ายสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนที่มีความพร้อม ดังนั้นจึงคิดว่าจะสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จ อย่างเป็นรูปธรรม

“ ขอฝากผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 32 แห่งร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษา โดยขอให้ช่วยกันดูว่า จะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเติบโตขึ้นเป็นคนคุณภาพ ผมคาดหวังว่าเมื่อสร้างความร่วมมือโรงเรียนร่วมพัฒนา กับโรงเรียนคุณภาพแล้ว จะขยายผลการจัดการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ให้แก่โรงเรียนอื่นๆ โดยอยุธยาจะเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป“ พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาด้านเทคโนโลยีทรัพยากรและองค์ความรู้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ในการร่วมกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ช่วยขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยถือเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของการศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาได้ทำมาแล้วหลายจังหวัดทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดลพบุรี และกรุงเทพมหานคร
การลงนามครั้งนี้เหมือนพันธสัญญาที่จะมีต่อกันว่าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสพฐ.จะมีความร่วมมือเป็นอย่างดีในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เรื่องของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆ     ซึ่งเชื่อมั่นว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเข้ามาเติมเต็มในการดึงศักยภาพความต้องการของผู้เรียน

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับ การจัดการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางควบคู่ไปกับ การกระจายอำนาจ และ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยเล็งเห็นว่า การศึกษา คือ รากฐานของการพัฒนาประเทศจึงได้มีการริเริ่มโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันบริหาร จัดการศึกษา โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีศักยภาพรอบด้าน พร้อมเติบโตไป เป็นกำลังสำคัญของชาติ

ด้านนางเนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมยกระดับการศึกษา ในฐานะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ได้ทำมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดีที่ได้ทำร่วมกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง 8 ปีแล้ว และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันที่เราจะมาร่วมโครงการสร้างโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เราต้องการที่จะขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาไปด้วยกัน เชื่อว่าจะสามารถดึง พลังสำคัญของยุทธศาสตร์แต่ละด้านมาขับเคลื่อนให้กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่จะเป็นโรงเรียนแม่ข่าย ดึงความร่วมมือยกระดับการจัดการศึกษาไปทั่วประเทศพร้อมกัน
โดยดำเนินการใน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. TRANSPARENCY การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะมีระบบที่เก็บข้อมูลพื้นฐาน โรงเรียนและจัดทำการประเมินคุณภาพ โรงเรียนเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลวางแผนพัฒนา โรงเรียนได้ตรงจุด

2. MARKET MECHANISMS กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม หลังจากที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นข้อมูลโรงเรียน เกิดการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งร่วมกัน  3. HIGH QUALITY PRINCIPALS &TEACHERS การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 4. CHILD CENTRIC & CURRICULUM การให้เด็กเป็นศูนย์กลางเสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และ5. DIGITAL INFRASTRUCTURE การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา สนับสนุนสื่อและอุปกรณ์ ICT ต่าง ๆ แก่ ครู นักเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลก ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยความสำเร็จในการยกระดับการศึกษา

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.