พระครูธรรมธรชัยพร แจง รอยร้าวพระนอนวัดโพธิ์ มีมาก่อนแผ่นดินไหว ยกหลักฐานภาพปี 67 ชี้ชัด
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สืบเนื่องกรณีการแชร์ภาพพระพุทธไสยาสน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ว่าพระพักตร์ ชำรุดหรือเกิดการร้าว โดยระบุว่ามาจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น
พระครูธรรมธรชัยพร ชินวโร วัดพระเชตุพนฯ ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า บริเวณที่พระพักตร์เกิดชำรุดหรือร้าวนั้น เกิดขึ้นก่อนการเกิดแผ่นดินไหว โดยทางวัดอยู่ระหว่างการหารือแนวทางการอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้แต่อย่างใด
“พระพักตร์บริเวณดังกล่าวเริ่มชำรุด จึงเกิดรอยร้าว หากใครมากราบสักการะพระนอนอยู่ประจำก็จะพบเห็น ผู้ที่เกี่ยวข้องของทางวัดอยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือถึงแนวทางในการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม การเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ก็คงมีส่วนกระทบบ้าง ต้องรอหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบว่ามีรอยในส่วนไหนเกิดขึ้นใหม่ จากเหตุการแผ่นดินไหวในครั้งนี้หรือไม่” พระครูธรรมธรชัยพร ระบุ
ทั้งนี้ พระครูธรรมธรชัยพร ได้นำภาพถ่ายเมื่อเดือนเมษายน 2567 มาเปิดเผยด้วยว่ามีรอยร้าวเดิมจริง
อนึ่ง พระพุทธไสยาสในพระวิหารพระพุทธไสยาส เป็นพระพุทธปฏิมาองค์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่มีขนาดใหญ่ในพระนคร ดังปรากฏใน “สำเนาพระราชดำริ ทรงสร้างพระพุทธไสยาสวัดพระเชตุพน จ.ศ. 1193 พ.ศ. 2374“ ว่า
“… ทรงพระราชดำหริะว่า พระพุทธปฏิมากรใหญ่ ยังมิได้มีในพระมหานครนี้ จึ่งมีพระราชโองการมานพระบันทูลสุรสีหนาท ดำหรัสสั่งพญาศรีพิพัทธ์รัตนราชโกษาแลพญาเพ็ชฟิไชย ให้เปนแม่การถาปนาพระมหาวิหารแลพระพุทธไสยาศน์ใหญ่ ขึ้นไว้ในพระอารามนี้จะให้เปนที่สักการบูชา …”
พระพุทธไสยาสเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถสีหไสยาสน์หรือนอนตะแคงขวา หันพระพักตร์ไปเบื้องทิศเหนือหันพระเศียรไปทิศตะวันออก พระบาทมีงานประดับมุกลายมงคล 108 ประการ โดยพุทธลักษณะของพระพุทธรูปไสยาสองค์นี้ถือว่าได้เป็นแบบแผนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สืบทอดงานช่างสมัยอยุธยาลงมา