ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
"จิตวิญญาณที่แม่นตรงต่อชีวิตนั้น..เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อเงื่อนไขของการดำรงชีวิตอยู่..มันคือปณิธานอันสัตย์ซื่อที่จะช่วยให้ตัวตนของเรา เต็มไปด้วยพลังของความมุ่งมั่นสิ่งหนึ่งให้บรรลุสู่ผลสำเร็จ..
เหตุนี้..ชีวิตทุกๆชีวิตจึงสมควรที่จะต้องพุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างเด็ดขาด..ปราศจากซึ่งความลังเล..ที่จะมากั้นขวางเป้าหมายแห่งเจตจำนงอันสูงค่าของชีวิต..ไม่ว่าจะเป็น ณ เมื่อใดก็ตาม..!
..จงเน้นย้ำกับตัวตนของชีวิตอยู่เสมอว่า. “อย่าลังเลในการลงมือทำอะไร ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ..ในการกระทำของชีวิตเราเอง”
นี่คือ ..สาระสำคัญที่กระทบเป้าหมายในความรู้สึกแห่งใจจากหนังสือของ “เปาโล คูเอลญู” (Paulo Coelho)..นักเขียนยอดฝีมือชาว บราซิล..เรื่องราวอันลึกซึ้งและชวนตื่นตระการของ “ปราชญ์ ผู้นักสู้..ผู้ยิ่งใหญ่” ..ที่เร้นซ่อนตัวเองจากภาวะอันวุ่นวายของโลกแห่งสังคม..เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งเซน..อันหมายถึง..การบำบัดกายและใจ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบเย็นและลดความเครียดลง..ด้วยวิธีการง่ายๆ..ผ่านการฝึกฝนในการบริหารจิตที่ไม่ซับซ้อนแต่เป็นพัฒนาการ..ที่ทำให้ก่อเกิด การผ่อนคลายอันสุขสงบทั้งสภาวะแห่งกายและใจ..!
.. “ปราชญ์แห่งธนู” (THE ARCHER)... มีลีลาการเล่าเรื่องที่คล้ายดั่งนิทานที่แฝงไว้ด้วยวิถีแห่งปรัชญา ผ่านการตั้งคำถามให้ทุกๆคนได้ขบคิด
“หากแม้ว่าวิถีของนักธนู จะเปรียบได้ดั่งการใช้ชีวิต..เราทุกคนจะมีวิธีฝึกฝน และเตรียมพร้อมในตัวเองอย่างไร?..
ในแต่ละขั้นตอน เพื่อฝึกปรือและขัดเกลาฝีมือ..กระสามารถเป็น “ยอดคน”..ที่จะสามารถรับมือได้กับทุกๆสถานการณ์..
ว่ากันว่า.. “หากชีวิตเปรียบได้ดั่งวิถีแห่งธนู” หนังสือเล่มนี้จักสามารถช่วยให้เรา ได้ทบทวนถึงการใช้สัญชาตญาณ ต่อการใช้ชีวิตในท่วงทำนองต่างๆ..เพื่อช่วยสังเกตถึงความผิดพลาด ...และ..ทำให้การรับมือกับอุปสรรคสามารถบังเกิดขึ้นได้..อย่างสง่างามยิ่งๆขึ้น.. “นักยิงธนู..ไม่อาจเลือกที่ยิงธนูได้เสมอไป..” ..เนื่องเพราะ..แม้เราจะฝึกฝนมานานแค่ไหน ..หากได้พบเจอกับอุปสรรคที่ไม่คุ้นเคย..ก็ย่อมทำให้เกิดความประหม่า..อันอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้..ในที่สุด..
นั่นจึงเท่ากับว่า..การอยู่ในภาวะเตรียมพร้อม เพื่อทำอะไรบางอย่าง..มักต้องเป็นธรรมชาติ..เพื่อให้ทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด.. “ความยาก ..จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้..”
จงใช้เวลา “..ที่เวลาต้องเลวร้าย” เพื่อพบในสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา..และจงใช้เวลาในช่วงที่ดีงาม..เพื่อค้นพบเส้นทางสุขสงบภายใน.. “อุปสรรคความท้าทาย..จะช่วยให้เห็นถึงปัญหา..และข้อจำกัดได้อย่างชัดเจน”..การเฝ้ามองปัญหาเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง..จะนำไปสู่เส้นทาง ที่เราเลือกเดินต่อไป..ได้อย่างถูกต้อง..!
... “นักธนู” ยอมให้ลูกธนูหลายดอก...พลาดเป้าไปไกล..เพราะเขารู้ว่า “จะต้องเรียนรู้..ความสำคัญของธนู ทั้งสายธนูและเป้า..เมื่อทำซ้ำแบบเดิมนับพันๆครั้ง..เขาจึงไม่กลัวที่จะยิงพลาด”...การฝึกซ้อมจึ่งคือความสำคัญ..เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ผิดพลาด เพื่อเรียนรู้ .. “ยิ่งผิดพลาดยิิ่งแก้ไข..ยิ่งเก่งขึ้น!”
วิถีปฏิบัติของนักธนูที่สำคัญ จึงประกอบด้วย “การเตรียมพร้อมอยู่เสมอ”...ทั้งกายและใจ เพื่อการปฏิบัติจะได้เกิดขึ้นอย่างตื่นตัวและแม่นตรง./ “จงอย่าตัดสินใคร”..เพราะเราแต่ละคนล้วนย่อมมีจุดกำเนิดและเป้าหมายแห่งชีวิตที่แทบไม่เหมือนกันเลยมาแต่ต้น..จุดมุ่งหมายของชีวิต จึงเป็นเอกสิทธิ์อันสลับซับซ้อนของแต่ละบุคคล../ “จงอยู่ใกล้ผู้ที่กล้าเสี่ยง” เพราะผู้ที่กล้าเสี่ยง ย่อมไม่กลัวเกรงภัยร้ายใดๆ..ระหว่างทางที่จะไปถึงเป้าหมายสำคัญ../ “อย่าลังเลในการลงมือ”..ครั้นเมื่อตัดสินใจกระทำอะไรแล้ว.จงมุ่งมั่นทื่จะกระทำสู่ความสำเร็จ..อย่าลังเลจนกลายเป็นความล้มเหลวของปณิธาน../ “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราเอง”..เราจึงสำคัญยิ่ง..ก่อนที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป้าหมาย..จึงอย่าลังเลเพื่อจะก้าวย่าง..อย่างองอาจและทระนงไปข้างหน้า../ “ยิ่งเรียบง่าย ยิ่งงดงาม” ..ด้วยใจที่ไม่รกเรื้อไปด้วยอคติและความหวั่นใจที่ยุ่งยาก..การก้าวย่างของลูกศรชีวิต..จะพุ่งเป้ากระทบเป้าหมาย..อย่างเฉียบคมและสวยงาม../ “ฝึกฝนอยู่เสมอ”...การฝึกฝนคือโอกาสแห่งการเรียนรู้ถึงความผิดพลาด ..ลูกธนูอาจพลาดเป้าลูกแล้วลูกเล่า..แต่ที่สุดความเคยคุ้นแห่งสัญชาตญาณ..จะทำให้ผู้ยิงธนูประจักษ์และรู้สึกต่อการไม่พลาดเป้าได้..ในล้ำลึก...
*เรื่องราวทั้งหมด..เป็นเรื่องราวแห่งจักรวาลชีวิตของ “ทะสึยะ” เขาคือชายผู้เคยมีชื่อเสียง..ด้วยพรสวรรค์ขั้นอัจฉริยะ..ในการใช้คันธนูและลูกธนู..ก่อนที่จะวางมือเร้นกายออกจากวงการไป..
แต่ชีวิตของเขาก็ไม่อาจเลี่ยงพ้นการตามติดจากผู้ที่ยังคลางแคลงใจในฝีมือของเขา ..และปรารถนาที่จะประลองและพิสูจน์ฝีมือกับเขาดูสักครั้ง..รวมทั้งยังมีเด็กน้อยอีกผู้หนึ่ง..ซึ่งได้มีโอกาสได้เห็นการพิสูจน์ฝีมือของผู้ใหญ่ทั้งสอง..!
..เขามีคำถามมากมาย..ต่อ “ทัตสึยะ” ซึ่ง “ทัตสึยะ” ..ก็ได้ตอบคำถามที่มากมายเหล่านั้นของเด็กน้อย..ด้วยการอธิบาย .. “วิถีแห่งธนู” ผสานเข้ากับ “หลักการของชีวิตที่มีความหมาย”
“คนเรา..ต้องยอมเสี่ยง...สะสมความอดทนและกล้าหาญ..แล้วยอมรับจุดพลิกผัน..อันเกินคาด..ซึ่งโชคชะตาอาจมอบให้..”
“เปาโล คูเอลญู”..คือนักเขียนนักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพล ทั้งการเขียน การอ่าน ต่อโลกวรรณกรรมในทุกวันนี้อย่างเอกอุและยิ่งใหญ่..หนังสือของเขาขายได้เกิน 175 ล้านเล่มทั่วโลก/อยู่ในตลาดหนังสือของ 168 ประเทศ../และแปลเป็นภาษาต่างไปถึง80ภาษา..โดยส่วนตัว..ชีวิตของเขาประทับใจในผู้คน ภาษา ถนนหนทาง เมือง รวมทั้งฝั่งทะเลใน “โกปากบานา”/..
และ “พลอยแสง เอกญาติ” คือนักแปล ที่ถอดหัวใจ ถอดความหนังสือที่คาบเกี่ยวกับปราชญา..นานา..ด้วยความลุ่มลึก ด้วยสัมผัสแห่งนัยที่เปี่ยมเต็ม “สำนึกแห่งรู้สึกเสมอ”...
“..หลักวิชา..ทำให้มือทั้งสองข้าง พร้อมลมหายใจสอดประสานสายตา..จับจ้องที่เป้าหมาย/ส่วนสัญชาตญาณ..คือสิ่งที่ช่วยให้ช่วงเวลาที่ปล่อยลูกธนู..เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ”
และ..นี่คือ..พลังแรงแห่งการตกกระทบทางความคิด..พลังแรงแห่งการสอดรับความหมายของเป้าป้าย..ที่เราต่างเป็นผู้กระทำและลั่นไกลูกศรอันเป็นนัยของชีวิต..สู่เป้าหมายแห่งใจของเราเอง..จะแม่นตรงหรือพลาดเป้า..สิ่งเหล่านั้น..ล้วนซับซ้อนอยู่ใน..ความเสี่ยงแห่งโชคชะตาของชีวิต..ด้วยกันทั้งสิ้น..!
..หากไม่ยอมเสี่ยงเลย..ชีวิตก็จะไม่มีวันรู้ว่า..จักต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง?..
“การยิงธนูที่ดี..และแม่นยำ..แตกต่างอย่างมากจาก การยิงธนู..ด้วยความสงบนิ่ง..ทางจิตวิญญาณ..!”