ส.ว. รุมเฉ่งระบบเตือนภัยไร้ประสิทธิภาพ
GH News March 31, 2025 11:07 PM

 ส.ว. รุมเฉ่งระบบเตือนภัยไร้ประสิทธิภาพ ฉะรัฐบาลไร้เดียงสาปฏิเสธรับผิดชอบ พร้อมส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ  ครม.  กมธ. ไปศึกษาต่อ

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.68 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา ถึงกรณีเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28มี.ค.68ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ตามที่ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร ส.ว.  เป็นผู้เสนอ โดยสว.ส่วนใหญ่ต่างอภิปรายถึงความไร้ประสิทธิภาพระบบเตือนภัยพิบัติของประเทศไทย และรัฐบาล ที่มีการลงทุนและจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างระบบเตือนภัยเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอาคารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่เป็นอาคารราชการ เช่น อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)อาคารศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบรายละเอียด กังวลว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแบบก่อสร้าง การแก้ไขเหล็กก่อสร้างจนอาคารไม่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้

น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ส.ว. อภิปรายว่า ตั้งแต่เกิดเหตุสึนามิ พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยลงทุนระบบแจ้งเตือน Cell broadcast กว่า 1,074ล้านบาท แต่กลับไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องพัฒนาเร่งด่วน ช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว วันที่28 มี.ค. เชื่อว่า ประชาชนสงสัยเกิดอะไรขึ้นกับระบบแจ้งเตือนประเทศไทย ตอนเกิดเหตุไม่มีการแจ้งเตือน แต่หลังผ่านไป 5-6 ชั่วโมง พบข้อความแจ้ง มิจฉาชีพยังส่งข้อความได้เร็วกว่าภาครัฐ แถมส่งลิงค์มิจฉาชีพมาด้วย

ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. อภิปรายว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเปลือยเปล่าระบบราชการไทย และรัฐบาลอย่างชัดเจนที่สุด ทำให้คนไทยตาสว่างกัน รัฐบาลไม่อาจแสดงความไร้เดียงสา ปฏิเสธความรับผิดชอบ แม้จะเกิดเป็นครั้งแรก จะว่าไปแล้วครอบครัวน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เคยเผชิญวิกฤตตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ เหตุสึนามิ รุ่นอาเจอน้ำท่วมใหญ่ กระทั่งถึงรุ่นนายกฯ ควรนำประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤติมาใช้ได้บ้าง แต่กลับหาความมืออาชีพไม่มี การสื่อสารภาวะวิกฤตเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำช้าและน้อยเกินไป มีกระแสข่าวว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตทั้ง 2ค่าย พร้อมส่งเอสเอ็มเอส แต่ กสทช. และ ปภ.ไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะส่งข้อความอะไร ลังเลจน 23ชั่วโมงผ่านไป ตนเพิ่งได้รับเอสเอ็มเอสถึงวิธีปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายส่วนใหญ่ ส.ว. พุ่งเป้าไปที่การแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุ โดยยกประสบการณ์ตนเอง และหลายคนยกตัวอย่างการแจ้งเตือนของต่างประเทศที่รวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ภายหลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ประชุมมีมติส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะปัญหาแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ ครม.ดำเนินการพิจารณาดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) การบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ไปศึกษาเพิ่มเติม แล้วนำผลการพิจารณามาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.