โฟกัส 'ความเปลี่ยนแปลง' จากศึกอภิปราย 'อิ๊งค์'
SUB_NUM April 01, 2025 11:01 AM

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจสำหรับซีซั่นนี้จบไปแล้ว “นายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” ผ่านฉลุย
319-162

คะแนนไม่ไว้วางใจไม่ถึงครึ่งของจำนวน สส. เท่ากับสภายังไว้วางใจให้เป็นนายกฯต่อไป

การอภิปรายใช้เวลา 2 วัน คือ 24 และ 25 มี.ค. แล้วลงมติในวันรุ่งขึ้น 26 มี.ค. ตามผลคะแนนดังกล่าว

เที่ยวนี้ฝ่ายค้านอภิปรายนายกฯ คนเดียว จากเดิมจะอภิปรายนายกฯและ 10 รมต. แต่เปลี่ยนแปลงในที่สุด

การอภิปรายที่ใช้เวลา 2 วัน ถือว่า เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะสมัยก่อน การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะใช้เวลามากเป็นมหกรรมกันเลย

โดยเฉพาะในช่วงการเมืองก่อนการรัฐประหาร 2554

ย้อนไปไกล ๆ การอภิปรายนายกฯ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2490 ใช้เวลา 8 วัน 7 คืน

เสียงผ่าน แต่นายกฯลาออก และ 5 เดือนต่อมา เกิดรัฐประหาร 2490 ปิดฉากยุคของ “คณะราษฎร”

การอภิปรายครั้งนั้นเป็นตำนานของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ใช้อ้างอิงถึงมาจนถึงยุคหลัง 14 ตุลาฯ 2516

ก่อนรัฐประหาร 2554 หากมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีการออกข่าวถึง “ขุนพลฝ่ายค้าน” ที่จะเป็นตัวชูโรงของรายการ

“ขุนพล” จะขึ้นเวทีอภิปราย โดยมีชาร์ต, บอร์ดข้อมูล แฟ้มเอกสาร มาประกอบการอภิปราย

ก่อนอภิปรายจะมีการโหมโรงว่า เที่ยวนี้ข้อมูลสมบูรณ์มาก ข้าราชการทนไม่ไหวแล้ว แอบส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านเพียบ

อาจมีการฉายหนังตัวอย่างเรียกน้ำย่อย

พอถึงวันจริง การอภิปรายจะใช้เวลากันเป็นชั่วโมง การอภิปรายสำคัญ ๆ จะใช้ห้วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำ

วิธีการอภิปรายจะแตะหลายเรื่อง แตะบิ๊กเนมคนนั้นคนนี้ แวะตรงนั้นตรงนี้ให้เป็นสีสัน

ขุนพลคนไหน อภิปรายได้แซบมาก จะเป็นเป้าการประท้วงจากองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือ รมต.

กว่าจะอภิปรายจบก็เหนื่อยอ่อนไปตาม ๆ กัน ทั้งคนพูด คนฟัง รวมถึงผู้ฟังทางบ้าน

บรรยากาศอย่างที่ว่า มาสะดุดด้วยรัฐประหาร 2554 กว่าจะกลับมาอีกครั้งก็ 9 ปีต่อมา

รัฐประหาร 2554 ทำให้เกิดการ “เว้นวรรคระบอบประชาธิปไตย” ยาวนานถึง 8 ปี

กว่าจะเลือกตั้งก็ 2562 ก่อนเกิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในสมัยรัฐบาลบิ๊กตู่ปี 2563

การอภิปรายจากปี 2563 เป็นต้นมา ไม่ถึงกับดุดันมากนัก แต่ยังยาวอยู่ จึงมีเสียงเรียกร้องขอ “ความกระชับ” อยู่เรื่อย ๆ

การอภิปราย 24-25-26 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการใช้เวลาที่กระชับมากขึ้น สอดคล้องกับยุคสมัยและสถานการณ์มากขึ้น

แต่ในอนาคต ถ้ายื่นญัตติไม่ไว้วางใจ โดยมีความชัดเจนว่ามีข้อมูลมาก มี รมต.
ในญัตติหลายคน

ก็ยังเปลี่ยนแปลงขยายเวลาได้

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือ บทบาทและท่าทีของ “นายกฯอิ๊งค์” ในสภา

นายกฯเป็นผู้หญิง อายุน้อย เรียกว่าเป็นเจนวาย เป็นหน้าใหม่ในการเมือง

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านเอะอะว่า นายกฯไม่กล้าพูดในสภา หนีฝ่ายค้าน ไม่มาตอบกระทู้

สส.บางคนอภิปรายในสภา เลยถือโอกาสใช้ลีลา “สั่งสอน” เพราะเชื่อว่าตัวเอง “เก๋ากว่า”

การอภิปรายครั้งนี้ นายกฯอิ๊งค์ ลุกขึ้นแลกหมัดกับฝ่ายค้านเป็นระยะ

ตั้งแต่ “ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่ประเดิมเป็นคนแรก ไปจนถึงอีกหลายคน

อาจมีคนชอบและไม่ชอบ แต่ก็ต้องถือว่า นายกฯ อภิปรายได้ในระดับที่พอสมควร ต่อไปต้องประเมินนายกฯกันใหม่

จะยิ่งดี หากนายกฯ เข้าสภาไปตอบกระทู้ ชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ด้วยตนเอง

ใช้เวทีสภาให้มากขึ้น ถกเถียงกันในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประชาชน

น่าจะช่วยให้การเมืองไทยในภาพรวมดีขึ้น

ใช้สภาสัปปายะกันให้คุ้มค่า เพราะใช้งบฯสร้างมากมายมหาศาล

อภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ ยังทำให้ประชาชนคุ้นชื่อ สส.รัฐบาลที่ทำหน้าที่องครักษ์นายกฯ หลายคน

บางคนดูมีประสบการณ์ มีวิชาความรู้ แต่บางคนออกไปทางฮา ๆ ทำให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

แต่ถ้านายกฯ ตัดสินใจชกเอง ออกหมัดเอง บทบาทองครักษ์คงจะเบาบางลงไป

ถ้าเป็นไปได้ ให้เหลือน้อย ๆ เข้าไว้ ให้ไปทำหน้าที่ช่วยประชาชน น่าจะเป็นบรรยากาศที่ดี

เข้าสภามาแล้ว ก็สื่อสารกันตรงไปตรงมา ลดความรุงรังของการโต้เถียงขัดคอกัน

ยุคสมัยเปลี่ยน ดาวสภารุ่นเก่า ขุนพลรุ่นก่อน โรยรากันไปมากแล้ว

ประชาชนกำลังรอดูคลื่นใหม่ ๆ ในสภา ที่กำลังมาแทนคลื่นเก่าที่อ่อนกำลังลงไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.