นพ.วีระพัน แนะวิธีแก้ปัญหา หมอ-คนสาธารณสุข 'ลาออก'
Chok_Online April 17, 2025 05:21 PM
สว.นพ.วีระพันธ์ จี้รัฐบาลแก้ปัญหา “หมอลาออก” เร่งด่วน ชี้ระบบทำคนเหนื่อยท้อ บุคลากรสาธารณสุขกำลังแย่ 
 
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา(สว.) แสดงทัศนะถึงประเด็น สถานการณ์วิกฤตขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 68 ใจความว่า
หากไม่รีบแก้ ปีหน้าหมอลาออกกันหมด ไม่เชื่อรอดู บุคลากรสาธารณสุขไทยทุกคน กำลังเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เภสัช เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่เวรเปล จนถึงหมอ ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบสุขภาพไทย ทุกคนล้วนเจอกับ “ภาระที่เพิ่มขึ้น” แต่ “แรงสนับสนุนกลับลดลง”
โพสต์นี้ ขอเริ่มต้นจากกลุ่มที่หลายคนอาจคิดว่า “ดูแลตัวเองได้” อย่างแพทย์ ทั้งที่ความจริงแล้ว หมอก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเหนื่อย ท้อ และ “ลาออก”
หมอลาออกเพราะอะไร ? ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเพราะระบบทั้งระบบ “ไม่เห็นหัวคนทำงาน”
1. ทำงานแต่ไม่ได้รับเงินตรงเวลา
 • ค่าตอบแทนที่ควรได้ เช่น เบี้ยกันดาร เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข(พ.ต.ส.) ค้างจ่าย 3-6 เดือน
 • ต้องทำเอกสารซับซ้อน รอกรม รอจังหวัด
 • ขณะที่หมอเอกชน เงินเดือนเข้าอัตโนมัติทุกสิ้นเดือน
2. ถูกกดทับจากภายในเอง
 • แพทย์เฉพาะทางบางคนเลือกเคส ไม่รับคนไข้หนัก
 • Intern แบกรับงานหนัก เครียด ขาดระบบพี่เลี้ยงที่แท้จริง
 • ผู้บริหารโรงพยาบาล สสจ ไม่สนใจดูแลน้อง
3. นโยบายส่วนกลางไม่เคยฟังเสียงจากพื้นที่จริง

 • บังคับให้ รพ. 30 เตียงต้องมีหมอ 5 คน แต่ไม่ดูภาระงานจริง
 • เทศกาลใหญ่หมอขึ้นเวร 72 ชั่วโมง ไม่มีคนเสริม
4. ภาระผู้ป่วยข้ามแดน ที่ไม่มีงบหรือแผนรองรับ
 • รพ.ชายแดนต้องแบกภาระผู้ป่วยต่างด้าว
 • รัฐไม่เจรจาหรือสนับสนุนอย่างจริงจัง
5. งานเอกสารมากเกินความจำเป็น
 • HA, ตัวชี้วัด, paperless ที่กลับทำให้ “นิ้วล็อก”
 • เอกสารล้นมือ จนไม่มีเวลารักษาคน
6. ไม่มีสิทธิเลือกที่ทำงาน
 • แพทย์ข้าราชการถูกกระจายแบบสุ่ม อยู่ห่างบ้านโดยไม่มีแรงจูงใจ
 • บางคนอยู่ไกลครอบครัวนานหลายปี จนหมดไฟ

แล้วเราจะแก้ยังไง?

1. จ่ายค่าตอบแทนตรงเวลา โปร่งใส ใช้ง่าย
 • ผ่านกรมบัญชีกลางโดยตรง
 • ใช้ระบบโอนอัตโนมัติ ไม่ผ่านระบบซับซ้อน
2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพกัน
 • แพทย์เฉพาะทางต้องรับผิดชอบจริง
 • Intern ต้องได้รับการปกป้องและพัฒนา ไม่ใช่แบกงาน
 •  ผู้บริหารต้องฟังเสียงผู้ปฏิบัติงาน
3. นโยบายต้องออกแบบจาก “พื้นที่จริง”
 • ใช้ข้อมูลประชากรแฝง ภาระงานจริง ไม่ใช่แค่ทะเบียนบ้าน
 • ก่อนประกาศใช้นโยบาย ควรทดลองและฟังเสียงจากหน้างาน
4. วางระบบดูแลผู้ป่วยข้ามแดนให้เป็นธรรม
 • มีระบบประกันหรือเจรจาค่ารักษาข้ามแดน
 • ไม่ปล่อยให้ รพ.ชายแดนทำงานฟรี
5. ลดภาระงานเอกสารที่ไม่จำเป็น
 • เหลือเฉพาะตัวชี้วัดที่สะท้อนคุณภาพชีวิตจริง
 • ให้ระบบช่วยงาน ไม่ใช่ให้หมอเป็นคนกรอกทุกอย่าง
6. ปรับระบบสรรหาแพทย์แบบมีแรงจูงใจ
 • ให้เลือกพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมสิทธิประโยชน์ เช่น วันลา, คะแนนวิชาชีพ, สวัสดิการพิเศษ
 • เขตกันดารต้องได้มากกว่าคำชม ต้องได้ “สิ่งที่คนอื่นไม่ได้”
“บุคลากรสาธารณสุขทุกคน  กำลังทุ่มเทสุดแรง แต่ระบบที่เขาอยู่ กำลังผลักให้พวกเขาถอยออกมาเงียบ ๆอย่าปล่อยให้ “คนรักษาคน” ต้องออกจากระบบ เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครรักษาเขา ถึงเวลาฟังเสียงคนหน้างาน ถึงเวลารักษาระบบให้รักษาคนได้อย่างยั่งยืน ในฐานะแพทย์และวุฒิสมาชิกยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้” นพ.วีระพันธ์ ระบุ
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.