DSI บุกค้น 4 จุด โยงคดีนอมินี ไชน่า เรลเวย์ฯ ปมตึก สตง.ถล่ม ยึดเอกสารสำคัญ พยานวัตถุเข้าสำนวน
GH News April 17, 2025 06:40 PM

DSI บุกค้น 4 จุด โยงคดีนอมินี ไชน่า เรลเวย์ฯ ปมตึก สตง.ถล่ม ยึดเอกสารสำคัญ พยานวัตถุเข้าสำนวน ด้านคณะพนักงานสอบสวนฯ จัดทำลำดับหมายเรียกพยาน 3 กลุ่ม รวม 19 หมาย เริ่ม 18 เม.ย.-15 พ.ค.

จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 33 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และมี พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน รวมถึงมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา กระทั่งต่อมาคณะพนักงานสอบสวนได้มีการกระจายการดำเนินงาน มีการลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนญาติของ 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยใน บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ลงพื้นที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ออกหนังสือเชิญบุคคลซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องในเอกสารการก่อสร้างตึก สตง. เป็นต้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ สำหรับนำเข้าสำนวนคดี ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ว่า จากกรณีที่ดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงสัญญา 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 1.สัญญาการออกแบบโครงสร้าง (ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่มีบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบ) 2.สัญญาควบคุมงาน 3.สัญญาการก่อสร้าง และ 4.สัญญาการเปลี่ยนแบบ หรือสัญญาขอแก้ไขเพิ่มเติมแบบ ซึ่งคือส่วนควบของสัญญาก่อสร้าง และสัญญาการออกแบบโครงสร้างก็ได้ เนื่องจากมีการแก้แบบระหว่างทาง เพราะการแก้ไขแบบก็ต้องให้คนออกแบบเป็นผู้อนุมัติ

ดังนั้น บริษัทที่เกี่ยวข้องจะเป็นบริษัทผู้ออกแบบ คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้รับเหมา เสนอไปที่ผู้ควบคุมงาน จากนั้นหากผู้ควบคุมงานเห็นด้วย ก็เสนอไปยังผู้ออกแบบว่าอนุมัติหรือไม่ หากผู้ออกแบบอนุมัติว่าทำแล้วไม่กระทบกับโครงสร้างก็เสนอไปยังคณะกรรมการเพื่อตรวจการจ้างฯ ทั้งนี้ ส่วนการออกแบบและการแก้ไขแบบจะต้องมีผู้แทนของ สตง. อนุมัติหรือไม่นั้น ทราบว่าจะมีคณะกรรมการบริหารเรื่องสัญญาจ้างอยู่ แต่ตามหลักการแล้ว อะไรที่รัฐเซ็นไปแล้ว รัฐต้องได้ประโยชน์

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า สำหรับการรับเป็นคดีพิเศษในตอนนี้ ดีเอสไอได้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ 2 ฐานความผิดภายใต้เลขคดีพิเศษที่ 32/2568 ได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 (ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง หรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือให้มีการเสนอราคาโดยหลงผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุด ระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นหรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า) และมาตรา 8 (ผู้ใดโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ

โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่านั้นเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า) เนื่องจากต้องดูว่ามีการใช้กลอุบายจนได้สัญญามาหรือไม่ ซึ่งการฮั้วประมูลมีหลายมิติ มิใช่ว่าต้องเป็นเอกชนมาฮั้วกันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการแข่งขันโดยใช้กลอุบาย แล้วทำให้ได้มาซึ่งสัญญา ตรงนี้ก็เป็นความผิดฮั้วได้ มันมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาทุกมิติ ส่วนเรื่องฝุ่นแดง ยังอยู่ระหว่างกระบวนการของดีเอสไอในการออกเลขสืบสวนคดีพิเศษ เพราะทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความอนุเคราะห์ดีเอสไอร่วมสืบสวนด้วย ขณะที่เรื่องเหล็กตกมาตรฐาน ทราบว่าทางสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) นำเหล็กไปตรวจสอบแล้ว หากพบความผิดใด ทาง สมอ. จะเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นบทบาทของ นายพิมล เจริญยิ่ง (บุคคลอายุ 85 ปี ที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุว่า มีชื่อเป็นผู้ออกแบบที่เซ็น) ทราบว่าเจ้าตัวมีชื่อเป็นผู้ออกแบบ ขณะที่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข เป็นคนที่มีชื่อเป็นคนขอแก้ไขแบบในฐานะผู้ควบคุมงาน ซึ่งทั้งคู่เป็นคนละขั้นตอนกัน ดังนั้น คนที่ไปปลอมลายเซ็นชื่อ แอบอ้างชื่อนายสมเกียรติ คือใครนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างการขยายผล ทั้งนี้ ใจความสำคัญที่เรายึดเป็นแกนกลาง คือ ตึก สตง. แห่งใหม่นี้ สตง. มีความต้องการสร้าง จึงประสงค์ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ออกแบบให้ แต่ด้วยกรอบเวลา 180 วัน กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่สามารถออกแบบได้ทัน จึงเป็นสิทธิของ สตง. ที่จะจ้างบริษัทเอกชน ดังนั้น มันจะทำให้เราเห็นว่าในกระบวนการต่าง ๆ ของการก่อสร้างตึก สตง. นี้ได้มีวิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้องกี่รายกันแน่ และเป็นใครบ้าง

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางดีเอสไอได้ประสานไปยังนายพิมล เจริญยิ่ง เพื่อขอความร่วมมือเข้าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ให้ข้อเท็จจริง ส่วนเจ้าตัวจะตอบรับอย่างไรนั้น จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเพราะเรื่องนี้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้น รายละเอียดที่จะใช้ในการสอบถามจะต้องเป็นประเด็นสำคัญ เพราะจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่มาใช้ต่อกับภาพอื่นในคดีได้ด้วย นอกจากนี้ หากดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานจนเห็นความเกี่ยวข้องว่าใครเข้ามาเกี่ยวข้องช่วงใดของงานบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร จึงจะเริ่มมีการออกหมายเรียกพยานนิติบุคคลต่าง ๆ เข้าให้ข้อมูลคดี

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า ในวันนี้ดีเอสไอได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลาอาญารัชดาภิเษกออกหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.สำนักงานใหญ่ของนายบินลิง วู 2.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 3.บริษัท ว และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ 4.บริษัท เคพี คอลซัลแทนส์ จำกัด เพื่อตรวจค้นและตรวจยึดพยานเอกสาร พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องในคดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ คือ คดีพิเศษที่ 32/2568 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่การจัดลำดับกลุ่มหมายเรียกพยานของดีเอสไอ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 68-15 พ.ค. 68 มีรายงานว่า แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มผู้รับงานก่อสร้างและผู้เกี่ยวข้อง 7 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด, นายเวนจี้ ลู, นายบินลิง วู, นายโสภณ มีชัย, นายประจวบ ศิริเขตร, นายมานัส ศรีอนันท์

2.กลุ่มผู้ทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี 6 ราย คือ น.ส.ศุทธวีร์ (สงวนนามสกุล), น.ส.ธีรดา (สงวนนามสกุล), น.ส.มณีรัตน์ (สงวนนามสกุล), นายนครินทร์ (สงวนนามสกุล), นายวรพจน์ (สงวนนามสกุล), น.ส.พิชญพร (สงวนนามสกุล)

3.กลุ่มผู้เสนอราคา (ไม่รวมกิจการร่วมค้า ITD) 6 ราย คือ บริษัท อาคาร 33 จำกัด, บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด, บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (จำกัด) มหาชน, บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ กิจการร่วมค้าวรเรียล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.