ถูกจัดให้เป็นประธานาธิบดีที่เขย่าโลกโดยแท้
สำหรับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา
โดยทันทีหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง เข้าสู่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ก็ลงนามใน “คำสั่งฝ่ายบริหาร” (Executive Order) สารพัดคำสั่ง ชนิดที่แฟ้มเต็มโต๊ะ ก็เขย่าโลกกันไปในหลายๆ เรื่องด้วยกัน อาทิ การนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลก การระงับโครงการตั้งถิ่นฐานผู้ลี้ภัย อันรวมไปถึงการกวาดล้างผู้อพยพเข้าเมือง และเนรเทศของผู้อพยพเข้าเมืองเหล่านั้น อย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เป็นต้น
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มีคำสั่งฝ่ายบริหาร หรือประกาศเกี่ยวกับนโยบายท่าทีที่แม้ไปกระทบกระทั่งกับประเทศ หรือดินแดนอื่นๆ เช่น แคนาดา เกาะกรีนแลนด์ และประเด็นเรื่องคลองปานามากับประเทศปานามา เป็นอาทิ
ไม่นับเรื่องที่เขาฟาดฝีปากเปิดศึกวิวาทะกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ในห้องทำงานรูปไข่ ของทำเนียบขาว
ล่าสุด ก็เป็นคำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยการดำเนินมาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariffs)” อันจะส่งผลให้สหรัฐฯ เพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ อย่างน้อย 75 ประเทศ โดยมีประเทศไทยของเรารวมอยู่ด้วย
โดยอัตราภาษีใหม่ที่จะเก็บเพิ่ม ก็มีจำนวนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หรือบางประเทศก็มากถึง 125 – 145 เปอร์เซ็นต์ เช่น ประเทศจีน เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีใหม่ข้างต้น บรรดานักวิเคราะห์ ระบุว่า เป็นนโยบายภาษีศุลากากรสินค้านำเข้าที่จัดเก็บสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 100 ปี เลยทีเดียว
ท่ามกลางความหวั่นเกรงจากประเทศทั่วโลกว่า “สงครามการค้าโลก” จะระเบิดศึกขึ้น
ว่ากันถึงความคิด ความเห็นของชาวอเมริกัน ว่าคิดเห็นกันอย่างไร? ต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงการใช้นโยบาย และมาตรการต่างๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ผ่านคำสั่งฝ่ายบริหาร นับตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง จวบจนถึงกลางเดือนเมษายนนี้ ก็ได้ความตามการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ ซึ่งจัดขึ้นโดย “อีโคโนมิสต์” ร่วมกับ “ยูกอฟ” ซึ่งทั้งคู่ล้วนมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ
ผลการสำรวจปรากฏว่า ในส่วนของการบริหารประเทศโดยรวม ประชาชนชาวอเมริกันที่ออกอาการไม่ปลื้มต่อผลงานการบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ มีจำนวนถึงร้อยละ 51 หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ส่วนผู้ที่ชื่นชอบในผลงานการบริหารประเทศมีจำนวนที่ร้อยละ 43
หักลบกลบหนี้แล้ว ก็ต้องถือว่า คะแนนนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ ติดลบถึง 8 จุดด้วยกัน
โดย “อีโคโนมิสต์” และ “ยูกอฟ” ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขที่ออกมา ก็ยังบ่งบอกชี้ว่า คะแนนนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ ลดต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าอีกด้วย สวนทางแตกต่างจากผู้ที่มีไม่ปลื้มกับผลงานบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่กลับเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งตัวเลขของผลการสำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า มีผู้ชื่นชอบประธานาธิบดีทรัมป์ที่ร้อยละ 46 ส่วนผู้ที่ไม่ปลื้มประธานาธิบดีทรัมป์ มีจำนวนร้อยละ 49
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกันตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ เริ่มรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคมเป็นต้นมาแล้ว ก็ต้องบอกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ มีคะแนนนิยมทรุดฮวบลงจากเดิมถึง 14 จุดเลยทีเดียว จากการสำรวจโพลล์โดย “อีโคโนมิสต์” ร่วมกับ “ยูกอฟ”
พร้อมกันนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นแบบจำแนกแยกย่อยไปในแต่ละประเด็น ก็ปรากฏว่า การจัดการ “ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม” ของสหรัฐฯ ดูจะเป็นประเด็นปัญหาหลัก เพราะเกี่ยวข้องกับ “ปากท้อง” และ “เงินในกระเป๋า” ของประชาชนชาวอเมริกันแบบโดยตรง ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหานี้เป็นอย่างมาก
โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมนี้ ปรากฏว่า ร้อยละ 51 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ไม่ปลื้มกับประธานาธิบดีทรัมป์ ในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนผู้ที่ชื่นชอบมีจำนวนที่ร้อยละ 41 ทิ้งห่างต่างกันถึง 10 จุดด้วยกัน
ทั้งนี้ ทาง “อีโคโนมิสต์” และ “ยูกอฟ” ยังระบุด้วยว่า แนวโน้มของชาวอเมริกันที่จะไม่ปลื้มต่อการจัดการปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประธานาธิบดีทรัมป์มีมากขึ้น เพราะในการสำรวจโพลล์ครั้งล่าสุดนี้ มีตัวเลขที่ไม่ปลื้มเพิ่มขึ้นมาจากสองสัปดาห์ที่แล้วถึง 4 จุด
เมื่อสำรวจแยกย่อยลงไปเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจนี้ ปรากว่า ในเรื่องเกี่ยวกับ “ภาวะเงินเฟ้อ” และ “ราคาสินค้า” ทางกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันถึงร้อยละ 55 มีความคิดเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังจัดการกับปัญหานี้ได้ไม่ดีนัก ตามที่คาดหวังเอาไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง โดยมีเพียงร้อยละ 36 เท่านั้น ที่คิดเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จัดการกับปัญหาเรื่องภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยตัวเลขที่นิยมชมชอบข้างต้น ก็ถือว่า ลดลงจากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว 8 จุด
ส่วนประเด็นเรื่องการดำเนินมาตรการภาษีศุลการตอบโต้ ปรากฏว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีทรัมป์ ถึงร้อยละ 52 ขณะที่ ผู้เห็นด้วยมีจำนวนเพียงร้อยละ 36 เท่านั้น
โดยกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 53 จากผู้ไม่เห็นด้วยข้างต้นนั้น ยังระบุด้วยว่า มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยส่วนรวม มีเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น ที่เห็นว่า อาจจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยส่วนรวม และในจำนวนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยดังกล่าว จำนวนถึงร้อยละ 80 ก็ยังวิตกกังวลด้วยว่า จะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ในสหรัฐฯ แพงขึ้น ไม่นับเรื่องที่สหรัฐฯ จะถูกประเทศต่างๆ เอาคืนเรื่องภาษีศุลกากรเช่นเดียวกันนี้ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามด้วยความหวั่นวิตกมากถึงร้อยละ 56 เลยทีเดียว