เอกชน ชี้สหรัฐชะลอขึ้นภาษี 90 วัน มีเวลาให้ตั้งรับ ลั่นไทยยังมีแต้มต่อเวียดนาม-จีน ลุ่นผลเจรจาออกมาด้วยดี พร้อมหารือภาครัฐด้านการเงิน-ไฟแนนซ์ ตั้งวงเงินช่วยผู้ประกอบการในการส่งออก
17 เม.ย. 2568 – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐอเมริกาชะลอการปรับขึ้นภาษี 90 วัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีเวลาในการตั้งรับเพิ่มมากขึ้น เพราะยังไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าเมื่อครบตามระยะเวลาที่ผ่อนปรนดังกล่าวสหรัฐฯจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อ ซึ่งปัจจุบันการที่สหรัฐฯชะลอการเก็บภาษีออกไป ทำให้เกิดกระแสกลับด้าน จากเดิมที่ประเทศไทยจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้า 36% และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา โดยทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก
“ก่อนหน้านี้หลายโรงงานกำลังวางแผนในการลดคนงาน ลดกำลังการผลิต แต่เวลานี้ในช่วง 90 วัน ต้องมีการรับออเดอร์ให้ได้มากที่สุด มีการเพิ่มกำลังการผลิต มีการนำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เพราะไม่มั่นใจว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ส่วนแผนการดำเนินการในระยะต่อไปก็คือ การรอฟังสัญญาณ หรือผลการเจรจาของภาครัฐกับสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้น หากผลการเจรจาไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในอีก 3 เดือนข้างหน้า สหรัฐฯยังคงเก็บภาษีจีน 145% และประเทศอื่นเท่าเดิม ไทยและภาคอุตสาหกรรมก็จะไม่กระทบมาก” นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นโอกาสของไทย และทุกประเทศที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากจีนเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้รับการผ่อนปรน สหรัฐฯยังคงเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 145% เท่าเดิม ทำให้การจัดเก็บจะต่างกันมากกว่า 100% แม้กระทั่งเวียดนามไทยก็ได้เปรียบจากภาษีที่ถูกจัดเก็บน้อยกว่าประมาณ 10% ดังนั้นจึงจะทำให้เกิดการสั่งสินค้าจากไทย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม และประเทศอื่นทดแทนการนำเข้าจากจีน เรียกว่าเป็นอานิสงส์เชิงบวกที่เกิดขึ้น
“นี่คือภาพแรกที่อาจเกิดขึ้น ไทยยังโดนเก็บภาษี 36% เวียดนามโดน 46% จีนโดน 145% ไทยจะได้แต้มต่อจากเวียดนาม 10% และจีนมากกว่า 100% ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีการย้ายฐานการผลิต แต่กรณีที่ไปเจรจาแล้วโดนัลด์ ทรัมป์เปลี่ยนนโยบายเป็นเจรจารายประเทศ เช่น เวียดนามลดให้เหลือ 25% แต่ไทยไม่ลด ก็จะกลับกันกลายเป็นไทยเสียเปรียบเวียดนาม 10% หากภาพออกมาในลักษณะดังกล่าวก็คงจะไม่ดีอย่างแน่นอน”นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนจะวางแผนและหารือกับภาครัฐก็คือ ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการเงิน หรือไฟแนนซ์ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซ์ซิมแบงก์) อาจจะต้องมีการตั้งวงเงินช่วยผู้ประกอบการในการส่งออก เพราะช่วงนี้อาจจะต้องซื้อวัตถุดิบมากเป็นพิเศษ เงินหมุนต้องใช้มาก เพื่อรองรับออเดอร์ช่วงสั้นใน 90 วัน ส่วนแผนที่จะรองรับต้องดูหลังวันที่ 25 เม.ย. 68 ที่ภาครัฐได้ไปเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะทำให้พอจะเห็นสัญญาณว่าต้องทำอย่างไร
“เอ็กซ์ซิมแบงก์น่าจะต้องตั้งวงเงินช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น จะต้องไปคุยกับผู้ส่งออกภาคอุตสาหกรรมต่างๆว่ารายไหนที่ได้อนิสงส์เชิงบวกก็ต้องตั้งเงินสำรองให้มากขึ้น โดยอย่างน้อยต้องตั้งเผื่อไว้ให้ทุกรายอีก 1 เท่าตัว จากวงเงินเดิม หรืออาจจะเพิ่มเป็น 1.5 เท่า ขณะที่เมื่อครบ 90 วันการจัดเก็บภาษียังอยู่คงเดิมไทยคงไม่เสียหายมาก เพราะเวียดนามถูกเก็บมากกว่า 10% โดยทั้งไทยและเวียดนามเป็นฐานการผลิตที่ส่งออกเข้าสหรัฐมากพอกัน ขณะที่จีนส่งออกมากที่สุด ดังนั้น ไทยจะได้เปรียบหลายอย่าง สหรัฐฯจะหันมาสั่งซื้อจากไทยและเวียดนามทดแทน”นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งนำเข้า และส่งออกเวลานี้ คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟ้าทุกอย่าง เพราะเวลานี้ที่สหรัฐฯยกเว้น 20 รายการให้จีน มีเฉพาะพวกสมาร์ทโฟน แผงโซลาร์ แทบเล็ท เซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น ที่เหลือจึงเป็นโอกาสของไทยหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างอื่น รวมทั้งที่ขายดีอยู่แล้วก็น่าจะเป็นโอกาสดีของไทย ยกเว้นชิ้นส่วนยานยนต์ที่ถูกเก็บภาษีเท่ากัน 25% แต่สินค้าอื่นที่ไทยส่งออกอยู่ เช่น เครื่องปรับอากาศที่นำเข้าจากไทยทดแทนได้ ก็จะเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปทดแทนสินค้าจีนได้