แนวรบอำนาจ รัฐบาลเพื่อไทย ในเกมล้ม สว.สีน้ำเงิน
ณัฐ การเมือง February 24, 2025 06:20 AM

เกมอันตรายทางการเมืองที่กระทรวงยุติธรรม และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งเรื่องตรวจสอบ กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา​ (สว.) เพราะมีกลุ่ม สว.สำรองไปยื่นร้องกับกระทรวงยุติธรรมว่ามี “โพยฮั้ว” ล็อกผลการเลือกไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กลายเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกับ สว. เสียงส่วนใหญ่ ที่ว่ากันว่าเป็น สว.สายสีน้ำเงินผูกโยงอย่างมีนัยยะกับพรรคภูมิใจไทย กับอีกฝ่าย คือ กระทรวงยุติธรรม ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

เรื่องมาเดือดตรงที่ สว.ซึ่งใช้เวลาไปสัมมนานอกสถานที่ ที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ได้ข่าว “เชิงลับ” ว่า ดีเอสไอ กำลังประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อรับเรื่องนี้ให้เป็นคดีพิเศษ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568

หนึ่งในระเบียบที่ สว.นั่งไม่ติดคือ วาระที่ 4.3 การพิจารณาเพื่อมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 กรณี ร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567

ทำให้ช่วงค่ำของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กลุ่ม สว. นำโดย มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นัดหมายสื่อมวลชน ว่าจะเปิดการแถลงข่าวด่วนทันทีในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์

สว.เก้าอี้ร้อน

เช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ “มงคล” ในฐานะประธานวุฒิสภา กล่าวว่า  “สว.เข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไข และระเบียบที่ กกต. กำหนด และทำหน้าที่ของ สว.อย่างตรงไปตรงมา ไม่ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใด ซึ่งการตรวจสอบของ กกต.นั้นเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของ กกต. ส่วนหน่วยงานที่ไม่อำนาจหน้าที่ที่ออกมาให้ข่าวนั้น ทำให้ สว.ต้องมาปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรี”

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม แถลงข่าวตอบโต้ว่า  ขณะนี้ดีเอสไอได้ตั้งคดีสืบสวนไว้แล้ว ซึ่งถ้าอยู่ชั้นสอบสวนที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก็จะต้องนำเข้าเป็นคดีพิเศษในฐานความผิดอาญาอื่น

แต่ต้องมีลักษณะเป็นความผิดที่ทำเป็นกระบวนการ หรือเป็นองค์กร มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงเป็นผู้ที่มีอิทธิพล ถ้าเข้าเกณฑ์ในลักษณะนี้นั้น ดีเอสไอสามารถทำให้ทุกคดี แต่ถ้าคดีนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เขาก็จะดึงไป หรือถ้าคดีนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะดึงเฉพาะส่วนฐานความผิดฐานเกี่ยวกับกระบวนการเลือกสว.ไป

“เราเคารพท่าน และดีเอสไอทำงานให้ความยุติธรรมคน ไม่อคติ และตรงไปตรงมา ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคิดว่าผู้ร้องได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในนิติบัญญัติ ถือว่าเป็นอำนาจของความมั่นคง”

“เมื่อเข้าในชั้นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะต้องพิจารณาว่ามีมูลพอสมควรหรือไม่ เพราะการสอบสวนเราจะต้องเชิญคนนอก เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยในการตรวจสอบพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญบางคนมาให้การว่า ถ้าไม่มีการฮั้วกันจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ ถ้าจะเลือกคน 10 คน ก็ควรสลับกันบ้าง แต่นี่ไม่สลับกันเลย ลำดับตรงกับโพย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสงสัย ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น และเป็นคนที่เคารพกันทั้งนั้น”

ชุลมุนเอกสารหลุด

ทว่าในช่วงที่ “มงคล” นำ สว.แถลงข่าว “ดักทาง” ดีเอสไอ ไล่เวลาจนถึง พ.ต.อ.ทวี ออกมาตอบโต้ว่า ดีเอสไอมีอำนาจสอบ

ปรากฏว่ามีการปล่อยข่าวใต้ดิน เดิมเกมล็อบบี้ต่อสู้กันไปมาระหว่างขั้วอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย และต่างฝ่ายต่างรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามเดินเกมกันอย่างไร ในหมากนี้

ฝ่ายหนึ่งเปิดเกมปล่อยข่าว ปล่อย “หนังสือหลุด” ที่ตอบกลับไป-กลับมาระหว่าง ดีเอสไอ กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการสอบสวนกระบวนการเลือก สว.ปี 2567

ซึ่งเป็นเรื่องรายละเอียดคำร้อง 3 คำร้อง และกระบวนการสอบสวน เรื่อง แจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

คำร้องที่หนึ่ง หนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ขอความเป็นธรรม จากการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ณ วิทยาลัย การอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี จากการที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ชอบธรรม และฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2567 กรณีพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ 1099/2567)

คำร้องที่สอง หนังสือฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และได้สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน พบข้อพิรุธในกระบวนการในการเลือก (คำร้องที่ 1193/2567)

คำร้องที่สาม หนังสือฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา สาย ข กลุ่มที่ 1 และกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่อาจมีกรณีความผิดต่อกฎหมาย (คำร้องที่ 1268/2567) และฉบับลงวันที่ 127 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่มที่ 18 และคัดค้านการ ประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ 1269/2567)

อธิบายวิธีการฮั้ว

รวมถึงกระบวนการสอบสวนตอนหนึ่งว่า…

จากการสืบสวนพบว่า โพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภามีหมายเลข จำนวน๒ ชุด กลุ่มละ๗ คนรวม ๑๔ คน และในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ พบว่ายบวนการจัดตั้งมีจำนวนผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาซึ่งอยู่ในขบวนการ จำนวนประมาณ ๑,๒๐๐ คน

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๕.๐๐ น. ขบวนการได้แจกเสื้อสีเหลืองให้กับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และขบวนการได้อำนวยความสะดวกโดยจัดหารถตู้โดยสาร ส่งผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ เดินทางไปเมืองทองธานี เพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศและผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในรอบเข้า และรอบไขว้ เป็นไปตามโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภาทุกประการ

สำหรับโพยยั้วสมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๒ ชุด กลุ่มละ ๗ คน นั้น พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๑๓๘ คน และอยู่ในลำดับสำรอง ๒ คน

กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๗ (๑) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒

เนื่องจากการกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ นิติบัญญัติ กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ กระทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยทราบว่ามีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนนออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาตามที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ”

“ดังนั้น ในการดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขตามกฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้”

อีกฉบับเป็นหนังสือ ที่ตอบกลับโดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องแจ้งการรับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ใจความว่า

“ตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่ามีผู้ยื่นขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ตรวจสอบการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จำนวน ๓ คำร้อง และต่อมาได้มีหนังสือตามอ้างถึง ๓ แจ้งข้อมูลว่าได้ดำเนินการสืบสวนตามมาตรา ๒๓/๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษพ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น”

“สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอเรียนว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ. ๒๕๖๐”

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง มีรายงานว่า มีการให้บุคคลระดับสูงต่อสายล็อบบี้ เพื่อไม่ยอมให้ดีเอสไอเปิดการพิจารณาให้คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ

สว.โต้กลับ

กระแสยังร้อนข้ามวันเมื่อ สว.ประกาศเอาคืน 22 กุมภาพันธ์ 2568 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการเดินหน้าตอบโต้กรณีที่มีการยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รับคดีฮั้วเลือกตั้งสว.ปี 2567 เป็นคดีพิเศษว่า​ จะให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการแจ้งความผู้ที่กล่าวหาทั้งภาครัฐและเอกชน​ ฐานทำให้วุฒิสภาเสียหาย ถูกเข้าใจผิด

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์

และในส่วนของกรรมาธิการวุฒิสภา จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่ และที่มาที่ไปของการมากล่าวหาวุฒิสภาร้ายแรงเรื่องอั้งยี่ซ่องโจร อาชญากรรม และภัยต่อความมั่นคง และจะเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในประเด็นการดำเนินงานในส่วนของดีเอสไอที่กล่าวหาวุฒิสภา เป็นไปด้วยเหตุและผลหรือไม่ โดยจะหารือกับสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง แต่คาดว่าจะอภิปรายภายในสมัยประชุมนี้”

“ผมทำงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มา 38 ปี แต่พอมาดูข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ ผมรับไม่ได้ สมาชิกท่านอื่นก็เช่นเดียวกัน ที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองมา ทำตามหลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560” พล.อ.เกรียงไกร ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

เป้าการอภิปราย “พล.อ.เกรียงไกร” เฉลยว่า “รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและต้องดูว่าใครอยู่เบื้องหลัง”

สถานการณ์อันตรายวันที่ 25

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งมี “ภูมิธรรม เวชชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 และ รมว.กลาโหม เป็นประธานจะมีการประชุม กคพ. โดยบอร์ดดังกล่าวมีองคาพยพ 22 คน

ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ระบุว่า คดีความผิดทางอาญาอื่นนอกจากความผิดตามกฎหมายท้ายพระราชบัญญัติ ตามที่ กคพ. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่ น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 15 เสียง

“ในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือคดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดบทอื่นหรือเรื่องอื่นด้วย และให้ถือว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ”

(ซึ่งความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 เป็นกฎหมายอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในท้ายพระราชบัญญัติของการสอบสวนคดีพิเศษ)

ดังนั้น หากที่ประชุม กคพ.มีมติรับให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ เป็นการเปิดช่องให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปทำคดีเพิ่มเติม

กลุ่ม สว.สีน้ำเงินจึงต้อง “ตัดวงจร” การเปิดการสอบสวนคดีพิเศษ

แม้ว่า สุดท้ายคดีนี้อาจจบที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้อำนาจของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามมาตรา 49 ดึงคดีไปดูเอง

“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวน ได้รับเรื่องการกระทําความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการ  เห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดําเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้  ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสํานวน การสอบสวนเกี่ยวกับการกระทําความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติ  ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสํานวน การสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง มาให้คณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว”

แต่ในทางการเมืองเท่ากับเป็นการ “บล็อก” สว.กลุ่มสีน้ำเงินไม่ให้กระดิก เพราะมีชนักติดหลังเรื่องการ “ฮั้ว” ในฐานะ “ความปรากฏ” ต่อ กกต.

แต่อีกด้านหนึ่ง รองประธาน สว. เกรียงไกร ศรีรักษ์ กล่าวไว้แล้วว่า วุฒิสภาจะพิจารณาเข้าชื่อเสนอให้ประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยถอดถอนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง คาดว่าเสียงน่าจะเพียงพอ

การประชุมบอร์ดคดีพิเศษ ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งเป็นประธาน ขนาบข้างด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธาน และกรรมการอีก 20 คน

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ เกมนี้จึงเป็นเกมแหลมคมยิ่ง และเมื่อองค์กรอิสระต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนผ่าน มาอยู่ในข่ายสีน้ำเงิน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พรรคเพื่อไทย กำลังจะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีกรณีชั้น 14 เป็นเรื่องสำคัญที่ ฝ่ายค้านตั้งเป้าถล่ม รมว.ยุติธรรม – พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

การล้ม สว.จึงไม่ง่าย แต่ก็ทำให้ฝ่ายสีน้ำเงินกระอักเลือด    

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.