วิกฤตตลาดสำนักงาน ซัพพลายล้น พื้นที่ว่างพุ่ง 27% แข่งลดราคาชิงผู้เช่าเดือด คาดฟื้นตัวปี73
GH News February 25, 2025 03:22 PM

วิกฤตตลาดสำนักงาน ซัพพลายล้น พื้นที่ว่างพุ่ง 27% แข่งลดราคาชิงผู้เช่าเดือด คาดฟื้นตัวปี73

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายอุกฤษฏ์ พรพัฒนไพโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพื้นที่สำนักงานให้เช่า คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯในปี 2567 มีทั้งหมด 8.78 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) อยู่พื้นที่ซีบีดี 4.97 ล้านตร.ม.หรือ 56% ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่สำนักงานที่กำลังสร้างและแล้วเสร็จระหว่างปี 2568-2570 อีก 725,000 ตร.ม. กว่า 50% อยู่พื้นที่ซีบีดี ที่เหลือ
กระจายหลายทำเล เช่น สุขุมวิทตอนปลาย บางนา รัชดาภิเษก เป็นต้น

ขณะที่อัตราการเช่าพื้นที่มีว่างเพิ่มขึ้นหลังโควิด หลายบริษัทมีแนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่นและแบบไฮบริดมากขึ้น รวมถึงปรับลดขนาดพื้นที่สำนักงานลงถึง 20-50% โดยปี 2568 คาดว่ามีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น 27% และมีอัตราการเช่าเพียง 72% ส่วนค่าเช่าอาคารเกรดเอพื้นที่ซีบีดีเฉลี่ยอยู่ที่ 950 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ยังมีแนวโน้มปรับขึ้น หลังอาคารใหม่เปิดบริการและมีความต้องการมากขึ้น

“ดังนั้นด้วยดีมานด์และซัพพลายที่ไม่สมดุลกัน จึงมองว่าพื้นที่สำนักงานตลาดยังโอเวอร์ซัพพลาย โดยมีพื้นที่รวมกว่า 10 ล้านตร.ม. อยู่พื้นที่ซีบีดีกว่า 2.5 ล้านตร.ม. ส่งผลตลาดแข่งขันสูงด้านราคา หลังมีผู้เช่าเดิมย้ายไปอาคารใหม่มากช่วงที่ผ่านมา เช่น ให้ส่วนลด 30% “นายอุกฤษฎ์กล่าว

นายอุกฤษฎ์กล่าวว่า สำหรับทำเลน่าห่วงและเหนื่อย ได้แก่ บางนา ค่าเช่า 400-500 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน จากปัญหาซัพพลายใหม่เข้ามามาก ,รามคำแหง ค่าเช่าอยู่ที่ 400-500 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน คาดรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดจะทำให้คึกคักขึ้น ,พญาไท-วิภาวดี ค่าเช่าอยู่ที่ 600-800 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน เนื่องจากมีหลายโครงการที่อัตราการเช่าอยู่ในระดับประมาณ 30% เท่านั้น
รวมถึงย่านสาทรที่มีอาคารเก่าอยู่จำนวนมาก

”นอกจากนี้มีหลายโครงการที่เป็นขนาดใหญ่ได้ชะลอการก่อสร้างโครงการออกไป จากซัพพลายที่ยังล้นและด้วยสาเหตุอื่น คาดว่าตลาดสำนักงานคงต้องใช้ระยะเวลา 5 ปีหรือภายในปี 2573 กว่าตลาดจะฟื้นและปรับสมดุลได้ แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขซัพพลายใหม่ไม่เพิ่ม เศรษฐกิจเติบโตและมีบริษัทข้ามชาติเข้ามามากขึ้น”นายอุกฤษฎ์กล่าว

นายอุกฤษฎ์กล่าวว่า ทั้งนี้การเติบโตของธุรกิจใหม่ในเอเชียมีแนวโน้มกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนอกเหนือจากประเทศไทย ส่งผลให้การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยอาจจะไม่มากแบบที่คาดการณ์ ประกอบกับปัจจัยความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกาและการตอบโต้ของประเทศที่เจอกำแพงภาษี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.