‘คลัง’ เตรียมชง ครม. ลดชั้นผู้รับเหมาที่ไม่มีคุณภาพ หวังเพิ่มความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการรัฐ พร้อมคุยมหาดไทยจ่อปรับวิธีการเขียนสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เล็งเพิ่มมาตรการ ‘แบล็กลิสต์’ บริษัทที่ประมาทเลินเล่อ เปิดช่องสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ยกเคส ‘ตึก สตง.’ ถล่มเป็นกรณีตัวอย่าง
7 เม.ย. 2568 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาางกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้แล้ว กรมบัญชีกลางจะนำมาตรการดังกล่าวมาจัดทำร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่..) พ.ศ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพ จะทำให้มีการปรับลดระดับชั้นผู้ประกอบการและการเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างได้ เพื่อเสริมมาตรการความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมาของโครงการรัฐ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปัจจุบันยังมีจุดที่อาจจะคลุมเครืออยู่บ้าง เช่น ในสัญญาจะมีการกำหนดว่าหากส่งมอบโครงการไม่ทันตามที่กำหนดไว้จะมีการปรับเท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีการกำหนดในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเลยว่า หากผู้รับเหมากระทำการประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดเหตุการณ์ 1-2 หรือ 3 หน่วยงานเจ้าของสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจะสามารถยกเลิกสัญญาได้ ตรงนี้ที่มองว่ายังคงเป็นปัญหา
ขณะเดียวกันยังได้มีการหารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดเงื่อนไขการขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ผู้รับเหมาในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสร้างความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของแรงงานและประชาชน เพื่อให้กฎหมายครอบคลุม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมางานโครงการของรัฐ หลังจากเกิดเหตุตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จนทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
“ที่อยู่ระหว่างการหารือ คือ เรื่องแบล็คลิสต์ ซึ่งปัจจุบันกรมบัญชีกลางยังไม่มีอำนาจในส่วนนี้ การดำเนินการจะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้จัดซื้อจัดจ้าง ชงเรื่องเข้ามาว่าโครงการมีปัญหาอย่างไร ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอย่างรอบคอบ รัดกุม คงจะไม่ใช่การเข้าไปชี้ชัดทันทีว่าผู้รับเหมาะรายนี้ผิดอย่างไร ต้องตรวจสอบก่อน ซึ่งการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายอย่างเข้มงวด” นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี มองว่าในอนาคตต้องมีการปรับเกี่ยวกับวิธีการเขียนสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องมีการลงในรายละเอียดบางส่วนให้ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการพูดคุยในเรื่องนี้กันอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการสรุป กรมบัญชีกลางเองก็ได้เข้าไปช่วยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูรายละเอียดด้วย เช่น กรณีของตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ต้องไปคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งกำลังคุยกับกระทรวงมหาดไทยอยู่